แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ขายติดต่อจำเลยที่ 1 เพื่อการขนส่งสินค้า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่ง แต่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ขนส่งอีกต่อหนึ่ง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ต่างรับจ้างขนส่งสินค้าในฐานะเป็นผู้ขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เงินส่วนต่างค่าขนส่งเป็นของตนเอง จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างขนส่งเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติของตนอันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 และเมื่อจำเลยที่ 1 ว่าจ้างผู้ขนส่งคนอื่นคือ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นกรณีที่ผู้ขนส่งมอบหมายสินค้าให้ผู้ขนส่งอื่นขนส่ง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงต้องรับผิดร่วมกันในความสูญหายของสินค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และมาตรา 618 ส่วนจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
ส่วนที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยไปร้อยละ 110 ของราคาสินค้านั้น เป็นความผูกพันตามสัญญาประกันภัยที่บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาและผู้รับประโยชน์เท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ที่ต้องรับผิดตามสัญญาขนส่งไม่ต้องผูกพันตามสัญญาประกันภัย ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การสูญหายของสินค้าทำให้ผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่งต้องเสียหายมากกว่าราคาสินค้าที่รวมค่าประกันภัยและค่าระวางการขนส่งแล้วแต่อย่างใด
จำเลยที่ 5 ออกใบตราส่งและประทับชื่อจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ขนส่ง ทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 7 ออกใบรับขนของ (WAYBILL) ระบุว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ส่งของโดยให้ตัวแทนของจำเลยที่ 5 รับสินค้าเพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง อันเป็นการทำหน้าที่ผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลทุกประการ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ขนส่งโดยมีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ขนส่งอื่น ดังนั้นเมื่อเหตุแห่งความสูญหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 7 ผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 5 และที่ 7 ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในความสูญหายของสินค้าดังกล่าวตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39, 43, 44 และ 45 สำหรับจำเลยที่ 6 แม้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 7 แต่จำเลยที่ 6 ไม่ได้ทำสัญญาขนส่งแทนจำเลยที่ 7 จึงไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
ความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 58 เว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา 60 (1) ถึง (4) คดีนี้เป็นกรณีตามมาตรา 60 (1) ซึ่งผู้ขนส่งไม่อาจจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58 ได้ เมื่อการสูญหายเกิดขึ้นจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย หรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 เป็นผู้ลักเอาสินค้าที่สูญหายไป หรือจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดที่มีเจตนาจะให้เกิดการสูญหาย หรือมีพฤติการณ์อย่างใดที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 ละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายจะเกิดขึ้นแต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่ามีกรณีตามมาตรา 60 (1) ที่ทำให้จำเลยที่ 5 และที่ 7 ต้องรับผิดโดยไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 5 และที่ 7 ย่อมรับผิดเพียงจำนวนจำกัดตามมาตรา 58
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน ๒,๘๑๔,๙๓๐.๘๙ บาท กับชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒,๖๘๗,๙๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลสัญชาติอเมริกัน ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยในประเทศไทยมีนายสตีเวนเป็นผู้จัดการสาขาประเทศไทยที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้และได้มอบอำนาจให้นางธีราพรดำเนินคดีนี้แทน โจทก์รับประกันภัยสินค้าทองแดงไว้จากบริษัทโอเรียนเต็ล คอปเปอร์ จำกัด ทุนประกัน ๑๒๓,๑๘๓.๖๔ ดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทโอเรียนเต็ล คอปเปอร์ จำกัด ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ขายสินค้าให้แก่บริษัทไต้หวัน บัสเวย์ จำกัด ในดินแดนไต้หวัน มีข้อตกลงซื้อขายตาม Incoterms CIF Keelung Port ราคา ๑๑๑,๙๘๕.๑๓ ดอลลาร์สหรัฐ การส่งสินค้ามีการบรรจุในลังไม้ ๒๐ ลัง น้ำหนักเฉพาะสินค้ารวม ๒๐,๙๓๑.๘๐ กิโลกรัม และนำเข้าบรรจุในตู้สินค้าเพื่อการขนส่งทางทะเลไปมอบแก่ผู้ซื้อ โดยสัญญาประกันภัยดังกล่าวครอบคลุมความเสี่ยงภัยในการขนส่งสินค้าตั้งแต่โรงงานของผู้ขายไปถึงโรงงานของผู้ซื้อ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขนส่งที่ได้ทำสัญญารับจ้างขนส่งสินค้าดังกล่าวจากโรงงานของผู้ขายในจังหวัดฉะเชิงเทราไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ทำการขนส่งแทน และจำเลยที่ ๒ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๔ เป็นผู้ขนส่ง โดยจำเลยที่ ๔ ได้มอบให้พนักงานขับรถยนต์บรรทุกของตนขับรถยนต์ลากตู้สินค้าเปล่าไปยังโรงงานของผู้ขายเพื่อบรรจุสินค้า แล้วขับรถยนต์ลากตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าแล้วไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนการขนส่งช่วงทางทะเลนั้น จำเลยที่ ๕ เป็นผู้ขนส่งที่ทำสัญญารับขนสินค้าดังกล่าวทางทะเลกับผู้ขายซึ่งเป็นผู้ส่งของ จากนั้นจำเลยที่ ๕ ได้ติดต่อกับจำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๗ ซึ่งอยู่ในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี จำเลยที่ ๗ จึงเป็นผู้ขนส่งที่ตกลงรับมอบหมายให้ขนส่งสินค้าช่วงนี้จากจำเลยที่ ๕ ต่อมาวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๔ ขนตู้สินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังและบรรทุกลงเรือวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เดินทางถึงท่าเรือคีลุง วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ต่อมาเมื่อผู้ซื้อรับมอบตู้สินค้าไปเปิดออกพบว่าสินค้าสูญหายไป ๑๑ ลัง คิดเป็นน้ำหนักสินค้ารวมทั้งลังไม้ ๑๒,๐๙๕ กิโลกรัม เป็นน้ำหนักเฉพาะสินค้า ๑๑,๕๕๔.๒ กิโลกรัม มีราคาตามใบกำกับสินค้า ๖๑,๘๑๔.๙๗ ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นราคาที่คิดจากมูลค่าที่เอาประกันภัย ๖๗,๙๙๖.๔๗ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่อมาวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามที่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยมอบหมายให้รับชำระค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์เป็นเงินบาทจำนวน ๒,๖๘๗,๙๐๐ บาท และทวงถามจำเลยทั้งเจ็ด แต่จำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระเงินแก่โจทก์
…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ จะต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าส่วนแรก และจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ จะต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าส่วนที่ ๒ ในฐานะใด อย่างไร หรือไม่ ปัญหานี้สำหรับกรณีการสูญหายของสินค้าส่วนแรกนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติเป็นเบื้องต้นแล้วว่า บริษัทโอเรียนเต็ล คอปเปอร์ จำกัด ติดต่อจำเลยที่ ๑ เป็นคนแรกเพื่อการขนส่งสินค้าครั้งนี้ และจำเลยที่ ๑ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ หุ้นส่วนผู้จัดการให้ขนส่ง แต่จำเลยที่ ๒ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๔ เป็นผู้ดำเนินการขนส่งอีกต่อหนึ่ง ซึ่งกรณีเช่นนี้ย่อมฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ต่างรับจ้างขนส่งสินค้าในฐานะเป็นผู้ขนส่งแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๑ ยังปฏิเสธและนำสืบว่า จำเลยที่ ๑ ทำหน้าที่รับจ้างทำพิธีการทางศุลกากรและบริการติดต่อหาผู้ขนส่งให้แก่บริษัทโอเรียนเต็ล คอปเปอร์ จำกัด เท่านั้น จึงมีปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขนส่งหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐๘ นั้น ผู้ขนส่ง หมายถึง ผู้รับขนส่งของเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน และข้อเท็จจริงได้ความตามหนังสือรับรองนิติบุคคลบริษัทจำเลยที่ ๑ ว่า บริษัทจำเลยที่ ๑ มีวัตถุประสงค์ข้อ ๙ ในการประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า แต่นายวีรชัยกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ ๑ ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและเบิกความประกอบว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบรรทุกสินค้า โดยจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่เพียงดำเนินพิธีการทางศุลกากรให้แก่บริษัทโอเรียนเต็ล คอปเปอร์ จำกัด ผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ ๑ ได้รับค่าจ้างจากการดำเนินพิธีการทางศุลกากรเป็นเงิน ๒๐๐ บาท และค่าบริการ ๑,๓๐๐ บาท เท่านั้น ส่วนค่ารถบรรทุกและพนักงานขับรถ จำเลยที่ ๑ ไม่มีใบอนุญาตขนส่งจึงขอร้องให้บริษัทเอส.เอ็น.พี.ทรานสปอร์ต จำกัด เป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้แทน แล้วจำเลยที่ ๑ นำไปจ่ายต่อให้แก่จำเลยที่ ๒ ซึ่งปรากฏตามรายละเอียดในสำเนาหนังสือวางบิลว่า จำเลยที่ ๑ เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายที่จ่ายล่วงหน้าให้ลูกค้าจากบริษัทโอเรียนเต็ล คอปเปอร์ จำกัด เป็นค่ารถยนต์บรรทุกและพนักงานขับรถจำนวน ๔,๐๐๐ บาท แต่จำเลยที่ ๓ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ ๒ เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ได้วางบิลเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ ๑ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ ๔ ได้วางบิลเรียกเก็บเงินค่าขนส่งโดยรถยนต์บรรทุกจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ก็จ่ายเงินให้จำเลยที่ ๔ หลังจากได้รับชำระเงินจากจำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๒ เรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ ๑ เป็นค่าขนส่ง ๓,๓๐๐ บาท เท่านั้น ส่วนนางสาวตั้วหมวย กรรมการบริษัทจำเลยที่ ๔ เบิกความว่า จำเลยที่ ๔ คิดค่าจ้างบรรทุกรายเที่ยวเป็นเงิน ๒,๘๐๐ บาท โดยเรียกเก็บเงินค่าจ้างส่วนนี้จากจำเลยที่ ๒ จากพยานหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ให้ขนส่งสินค้าโดยรถยนต์บรรทุกในราคาเพียง ๓,๓๐๐ บาท แล้วจำเลยที่ ๒ ว่าจ้างจำเลยที่ ๔ ต่อในราคา ๒,๘๐๐ บาท แต่จำเลยที่ ๑ กลับเรียกเก็บเงินค่ารถยนต์บรรทุกและคนขับรถจากบริษัทโอเรียนเต็ล คอปเปอร์ จำกัด เป็นเงิน ๔,๐๐๐ บาท ดังนี้จำเลยที่ ๑ ย่อมได้เงินส่วนต่างค่าขนส่งเป็นของตนเองเป็นเงิน ๗๐๐ บาท เช่นนี้ย่อมเชื่อได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้รับค่าขนส่งเพื่อตนเองในการขนส่งครั้งนี้ด้วย มิใช่คิดแต่ค่าบริการเพียง ๑,๓๐๐ บาท แต่อย่างใด จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ รับจ้างบริษัทโอเรียนเต็ล คอปเปอร์ จำกัด ขนส่งเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติของตน อันถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขนส่งตามมาตรา ๖๐๘ ดังกล่าว และเมื่อจำเลยที่ ๑ ว่าจ้างผู้ขนส่งคนอื่นคือ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ ว่าจ้างจำเลยที่ ๔ ผู้ขนส่งอื่นอีกทอดหนึ่งจึงเป็นกรณีที่ผู้ขนส่งมอบหมายสินค้าให้ผู้ขนส่งอื่นขนส่ง ผู้ขนส่งทุกคนคือจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ จึงต้องรับผิดร่วมกันในความสูญหายของสินค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๖ และมาตรา ๖๑๘ ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ จึงต้องร่วมกันรับผิดในความสูญหายของสินค้าส่วนแรกที่มีน้ำหนักรวมลัง ๒,๑๓๐ กิโลกรัม ต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัย…
ส่วนที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยไปร้อยละ ๑๑๐ ของราคาสินค้านั้น เป็นความผูกพันตามสัญญาประกันภัยที่บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาและผู้รับประโยชน์เท่านั้น แต่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นผู้ที่ต้องรับผิดตามสัญญาขนส่งไม่ต้องผูกพันตามสัญญาประกันภัย ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การสูญหายของสินค้านี้ทำให้ผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่งต้องเสียหายมากกว่าราคาสินค้าที่รวมค่าประกันภัยและค่าระวางการขนส่งแล้วแต่อย่างใด จึงฟังได้ว่าค่าเสียหายต่อความสูญหายของสินค้าที่เสียหายส่วนแรกที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์มีจำนวน ๔๒๘,๒๑๙.๖๐ บาท ดังกล่าวมาแล้วเท่านั้น
ส่วนกรณีที่สินค้าส่วนที่ ๒ สูญหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๗ เป็นน้ำหนักสินค้ารวมลัง ๙,๙๖๕ กิโลกรัม นั้น สำหรับจำเลยที่ ๕ ที่ปฏิเสธว่าตนไม่ใช่ผู้ขนส่ง แต่เป็นเพียงผู้รับจัดการจองระวางเรือโดยติดต่อจำเลยที่ ๗ ผ่านจำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๗ นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓ ผู้ขนส่ง หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของและใบตราส่ง หมายความว่า เอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลแสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว และผู้ขนส่งรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่จำเลยที่ ๕ ไม่ได้โต้แย้งว่าจำเลยที่ ๕ ลงชื่อออกใบตราส่งแก่บริษัทโอเรียนเต็ล คอปเปอร์ จำกัด ผู้ส่งของ ซึ่งแม้ใบตราส่งฉบับนี้ระบุถึงผู้รับตราส่งให้เป็นไปตามคำสั่งของธนาคาร CHANG HWA COMMERCIAL ก็ตาม แต่ก็ระบุชื่อบริษัทไต้หวัน บัสเวย์ จำกัด เป็นผู้ที่ต้องแจ้งให้ทราบ แสดงว่า เมื่อบริษัทดังกล่าวติดต่อกับธนาคารดังกล่าวเกี่ยวกับหนี้การชำระค่าสินค้านี้แล้วก็จะเป็นผู้รับตราส่งต่อไป โดยในใบตราส่งฉบับนี้ระบุว่าเป็นใบตราส่งของจำเลยที่ ๕ และในช่องสำหรับลงชื่อผู้ขนส่งก็มีการประทับชื่อจำเลยที่ ๕ ในฐานะผู้ขนส่ง ทั้งได้ความอีกว่า จำเลยที่ ๗ ได้ออกใบรับขนของ (WAYBILL) ให้แก่จำเลยที่ ๕ ระบุว่า จำเลยที่ ๕ เป็นผู้ส่งของโดยมีบริษัทเวิลด์เวย์ มารีน ทรานสปอร์เตชั่น แอนด์ โลจิสติก จำกัด เป็นผู้รับตราส่งที่ท่าปลายทางคือท่าเรือคีลุง นอกจากนี้นางสาวปัทมาพยานจำเลยที่ ๕ ก็เบิกความรับว่า จำเลยที่ ๕ มีวัตถุประสงค์ประกอบการรับขนสินค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศโดยจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบด้วย ชื่อบริษัทเวิลด์เวย์ มารีน ทรานสปอร์เตชั่น แอนด์ โลจิสติก จำกัด ผู้รับตราส่งในใบส่งของดังกล่าวเป็นตัวแทนจำเลยที่ ๕ ซึ่งเมื่อสินค้าส่งไปถึงดินแดนไต้หวันแล้วตัวแทนของจำเลยที่ ๕ นี้จะประสานงานกับจำเลยที่ ๗ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการขนสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ โดยตัวแทนจำเลยที่ ๕ ดังกล่าวสามารถขอให้จำเลยที่ ๗ ปล่อยสินค้าได้เลยโดยไม่ต้องยื่นใบรับขนของ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๕ รับขนสินค้าให้บริษัทโอเรียนเต็ล คอปเปอร์ จำกัด ผู้ส่งของโดยว่าจ้างจำเลยที่ ๗ ผ่านจำเลยที่ ๖ เป็นผู้ดำเนินการขนส่งอันถือว่าจำเลยที่ ๗ เป็นผู้ขนส่งอื่นนั่นเอง ทั้งนี้โดยจำเลยที่ ๕ จะรับสินค้าจากจำเลยที่ ๗ ที่ท่าเรือปลายทางด้วยการให้ตัวแทนของตนรับสินค้าเพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง อันเป็นการทำหน้าที่ผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลทุกประการ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๕ เป็นผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลครั้งนี้โดยมีจำเลยที่ ๗ เป็นผู้ขนส่งอื่น ดังนั้นเมื่อเหตุแห่งความสูญหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๗ ผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ ๕ และที่ ๗ ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในความสูญหายของสินค้าดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓๙, ๔๓, ๔๔ และ ๔๕ แต่สำหรับจำเลยที่ ๖ ซึ่งแม้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๗ แต่จำเลยที่ ๖ ไม่ได้ทำสัญญาขนส่งแทนจำเลยที่ ๗ ในสัญญาขนส่งกับผู้ขายหรือผู้ส่งของซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด จึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา ๘๒๔ ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไว้โดยโจทก์ไม่อุทธรณ์ในส่วนนี้ แต่อุทธรณ์อ้างว่า จำเลยที่ ๖ ร่วมขนส่งด้วย ซึ่งตามพยานหลักฐานของโจทก์ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ ๖ ทำหน้าที่แทนจำเลยที่ ๗ เท่านั้น ไม่ได้ความว่าเป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ ๗
แต่อย่างใด จำเลยที่ ๖ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ส่วนจำนวนค่าเสียหายในความสูญหายของสินค้าส่วนที่ ๒ ที่จำเลยที่ ๕ กับที่ ๗ ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจะต้องรับผิดโดยไม่ได้รับประโยชน์จากจำนวนจำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๐ (๑) เนื่องจากการสูญหายของสินค้าเกิดจากการทุจริตลักเอาสินค้าไปนั้น เห็นว่า กรณีที่จำเลยที่ ๕ กับที่ ๗ จะต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓๙ นั้น ความรับผิดตามมาตรา ๓๙ นี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๕๘ กล่าวคือ ความรับผิดของผู้ขนส่งมีจำนวนจำกัดเท่าที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๕๘ เท่านั้น โดยต้องรับผิดจำกัดเพียงหนึ่งหมื่นบาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาท ต่อน้ำหนักสุทธิแห่งสินค้านั้น แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า เว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา ๖๐ (๑) ถึง (๔) ซึ่งกล่าวโดยเฉพาะที่มีปัญหาในคดีนี้เป็นกรณีตามมาตรา ๖๐ (๑) ซึ่งผู้ขนส่งไม่อาจจำกัดความรับผิดตามมาตรา ๕๘ ได้ เมื่อการสูญหายเกิดขึ้นจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย หรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ตามข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๕ หรือที่ ๗ หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ ๕ หรือที่ ๗ เป็นผู้ลักเอาสินค้าที่สูญหายไป หรือจำเลยที่ ๕ หรือที่ ๗ หรือตัวแทนหรือลูกจ้างกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดที่มีเจตนาจะให้เกิดการสูญหาย หรือมีพฤติการณ์อย่างใดที่ถือได้ว่าจำเลยที่ ๕ หรือที่ ๗ ละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายจะเกิดขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นจึงฟังไม่ได้ว่ามีกรณีตามมาตรา ๖๐ (๑) ที่ทำให้จำเลยที่ ๕ และที่ ๗ ต้องรับผิดโดยไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ ๕ และที่ ๗ ย่อมรับผิดเพียงจำนวนจำกัดตามมาตรา ๕๘ ดังกล่าวข้างต้น โดยหากคิดจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิดหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งสินค้าครั้งนี้ ก็ถือว่าลังบรรจุสินค้า ๒๐ ลัง
นั้น แต่ละลังเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง สินค้าที่สูญหายระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๗ มีไม่ถึง ๑๑ ลัง ดังนั้นหากคิดตามหน่วยการขนส่งก็ย่อมไม่ถึง ๑๑๐,๐๐๐ บาท ส่วนการคิดจำนวนจำกัดความรับผิดสามสิบบาทต่อกิโลกรัมของน้ำหนักสุทธิของสินค้านั้น สินค้าที่สูญหายส่วนที่ ๒ นี้ มีน้ำหนักสินค้ารวมกับลัง ๙,๙๖๕ กิโลกรัม คิดคำนวณเป็นน้ำหนักสุทธิของสินค้าตามวิธีการเช่นเดียวกับที่คิดในกรณีสินค้าที่สูญหายส่วนแรก จะได้น้ำหนักสุทธิ ๙,๔๗๒.๙๒ กิโลกรัม คิดเป็นจำนวนจำกัดความรับผิดสามสิบบาทต่อกิโลกรัมได้เป็นเงิน ๒๘๔,๑๘๗.๔๖ บาท มากกว่าจำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่คิดตามหน่วยการขนส่งดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นจำเลยที่ ๕ และที่ ๗ จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินแก่โจทก์เป็นจำนวน ๒๘๔,๑๘๗.๔๖ บาท เท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในจำเลยทุกคนนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วยในส่วนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ และจำเลยที่ ๕ กับที่ ๗ คงเห็นพ้องด้วยในผลเฉพาะจำเลยที่ ๖ เท่านั้น อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน ๔๒๘,๒๑๙.๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ ๕ กับที่ ๗ ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน ๒๘๔,๑๘๗.๔๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ และที่ ๕ กับที่ ๗ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม ๓๐,๐๐๐ บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๖ ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง