คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11488/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อ ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อเลี้ยวขวากลับรถกะทันหันให้รถขวางถนน จนเป็นเหตุให้ อ. ซึ่งขับรถยนต์กระบะ พุ่งชน จน อ. ถึงแก่ความตาย และ ส. ซึ่งนั่งโดยสารมาด้วยได้รับบาดเจ็บ เมื่อขณะเกิดเหตุปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกหกล้อรับจ้างขนส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรับจ้างขนส่งสินค้าและมีเครื่องหมายสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 3 ติดไว้ที่ข้างรถบรรทุกหกล้อ เช่นนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกหกล้อรับจ้างขนส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นประจำโดยใช้เครื่องหมายสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 3 ติดไว้ที่ข้างรถมองเห็นได้ชัดเจน อันมีลักษณะเป็นการเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ในการรับจ้างขนส่งสินค้า ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เชิดให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน 275,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนาย 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอภิชาติและนางสมปอง ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดโดยขับรถยนต์บรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 81 – 8341 ระยอง ของจำเลยที่ 2 บรรทุกกระดาษในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อเลี้ยวขวากลับรถกะทันหันเพื่อข้ามไปฝั่งตรงข้ามด้วยความเร็วสูงทำให้รถขวางถนน เป็นเหตุให้นายอภิชาติซึ่งขับรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บย 6849 ชลบุรี พุ่งชน จนนายอภิชาติถึงแก่ความตายทันที และนางสมปองซึ่งนั่งโดยสารมาด้วยได้รับบาดเจ็บจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 ขับ จากจำเลยที่ 2 คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อ หมายเลขทะเบียน 81 – 8341 ระยอง ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยทางนำสืบของจำเลยที่ 3 ได้ความว่า รถยนต์บรรทุกหกล้อ หมายเลขทะเบียน 81 – 8341 ระยอง ที่จำเลยที่ 1 ขับในวันเกิดเหตุมีเครื่องหมายสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 3 ติดไว้ที่ข้างประตูรถ จำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์ในการรับจ้างขนส่งสินค้า โดยว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ทำการขนส่งสินค้าอีกช่วงหนึ่ง เช่นนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกของตนรับจ้างขนส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการประจำโดยใช้เครื่องหมายสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 3 ติดไว้ที่ข้างรถซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจน อันมีลักษณะเป็นการเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ในการส่งสินค้าตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เชิดให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 แล้ว จำเลยที่ 3 จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าหาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อดังกล่าวโดยประมาทชนรถยนต์คันที่นายอภิชาติบิดาโจทก์ขับมาได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้นายอภิชาติถึงแก่ความตายและนางสมปอง มารดาโจทก์ได้รับบาดเจ็บ อันเป็นการทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีจำเลยที่ 3 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share