คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19464/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ตามสัญญารับขน ซึ่งจำเลยที่ 1 รับขนส่งสินค้าจากโรงงานของโจทก์ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปส่งที่ท่าเรือโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว โดยขนส่งจากสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่ง อันเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 จึงไม่อาจนำอายุความหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาใช้บังคับดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย แต่ต้องใช้อายุความเก้าเดือนตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนการประกอบการขนส่งต่อเนื่อง แต่การจดทะเบียนการประกอบการขนส่งต่อเนื่องเป็นเพียงวิธีการควบคุมการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนการประกอบการขนส่งต่อเนื่องก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกอายุความตามพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นต่อสู้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 41,953,496.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 38,301,264.89 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 12,767,088.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าซึ่งบรรจุอยู่ในตู้สินค้ารวม 4 ตู้ รวมทั้งตู้สินค้าหมายเลข SAMU2226013 จากโรงงานของโจทก์ไปส่งที่ท่าเรือโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาโจทก์อ้างว่าเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2550 ผู้ซื้อสินค้าของโจทก์ที่ประเทศญี่ปุ่นแจ้งให้โจทก์ทราบว่าสินค้าบางส่วนประเภทเศษทองที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้าหมายเลข SAMU2226013 สูญหายไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ตามสัญญารับขน ซึ่งจำเลยที่ 1 รับขนส่งสินค้าจากโรงงานของโจทก์ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปส่งที่ท่าเรือโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว โดยขนส่งจากสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่ง อันเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 จึงไม่อาจนำอายุความหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย แต่ต้องนำอายุความเก้าเดือนตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องใด ๆ อันเกิดจากการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไม่ว่าจะมีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิด ถ้ามิได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการตามความในหมวด 3 เพื่อชี้ขาดภายในเก้าเดือนนับแต่วันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ ให้เป็นอันขาดอายุความ” เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อสินค้าที่ท่าเรือโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 24 มกราคม 2550 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 26 ธันวาคม 2550 เกินเก้าเดือน จึงขาดอายุความ
ส่วนที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนการประกอบการขนส่งต่อเนื่องฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขนส่งกันตั้งแต่ปี 2547 ก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยกอายุความตามพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นเพื่อให้พ้นผิดได้นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าตามฟ้องจากโรงงานของโจทก์ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปผ่านพิธีศุลกากรที่ด่านศุลกากรบ้านหว้าแล้วไปลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง ส่งไปยังท่าเรือโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นภายหลังจากที่พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 ใช้บังคับแล้ว จึงเป็นการที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งต้องใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้จดทะเบียนการประกอบการขนส่งต่อเนื่อง แต่การจดทะเบียนการประกอบการขนส่งต่อเนื่องเป็นเพียงวิธีการควบคุมการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนการประกอบการขนส่งต่อเนื่องก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกอายุความตามพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นต่อสู้ดังคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายตามสัญญาดังกล่าวได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในข้ออื่นอีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share