คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12601/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งโดยระบุชื่อจำเลยว่า “บริษัท ที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส จำกัด” เมื่อมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยระบุชื่อจำเลยว่า “บริษัทไทยมาสเตอร์ทรานสปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส (ทีเอ็มที) จำกัด หรือ ที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส” แม้ทั้งสองบริษัทเป็นนิติบุคคลต่างกันแต่ชื่อใกล้เคียงกันมาก มีกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนคนเดียวกัน กรรมการคนอื่นก็มีนามสกุลเดียวกัน เชื่อว่าเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน และตามใบรับขนทางอากาศ ในส่วนที่เป็นตราประทับของบริษัท และในส่วนที่เป็นช่องลายมือชื่อผู้ส่งสินค้าหรือตัวแทนระบุชื่อไว้ชัดเจนว่า กับในช่องลายมือชื่อผู้ขนส่งหรือตัวแทนผู้ออกเอกสารก็มีตราประทับแสดงเครื่องหมายการค้าของบริษัทโดยมีคำว่า ขนาดใหญ่กว่าคำหรือข้อความอื่น เมื่อได้ความว่าโจทก์ประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่รับจ้างขนส่งสินค้าและทำให้สินค้าเสียหาย ซึ่งก็คือบริษัทไทยมาสเตอร์ทรานสปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส (ทีเอ็มที) จำกัด หรือชื่อทางการค้าว่า ที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งแล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้องในอีก 7 วัน ต่อมาโดยเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลแพ่ง เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีโอกาสขอแก้ไขคำฟ้องในข้อผิดพลาดผิดหลงเกี่ยวกับชื่อจำเลย จำเลยเองก็ไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ใช่บุคคลที่รับจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าดังกล่าว แต่กลับระบุว่าความเสียหายของสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของจำเลย ทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาในคดี เมื่อสำเนาใบรับสินค้าและใบรับขนทางอากาศเอกสารท้ายฟ้องในคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกับเอกสารท้ายฟ้องในคดีนี้ก็เป็นชุดเดียวกัน จึงฟังได้ว่าผู้โต้แย้งสิทธิที่แท้จริงต่อโจทก์ คือ จำเลยนั่นเอง ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55 และถือว่าโจทก์ได้เคยฟ้องจำเลยคดีนี้ต่อศาลแพ่งแล้ว สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องที่โจทก์มีต่อจำเลยยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,571,364.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,365,739.51 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเรียกบริษัทชับบ์ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเกาหลีแอร์ไลน์ จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต โดยให้เรียกบริษัททั้งสองว่าจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ตามลำดับ
จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 37,075 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 27 กันยายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากชำระเป็นเงินไทยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ชำระเงินจริง โดยให้จำเลยร่วมที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยความรับผิดของจำเลย ร่วมรับผิดกับจำเลยต่อโจทก์ในเงินที่หักเงินร้อยละ 10 ของเงิน 37,075 ดอลลาร์สหรัฐ ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ออก และเมื่อคำนวณเงินที่จะหักออกแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท หากคำนวณได้ต่ำกว่าให้หักด้วย 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยร่วมที่ 1 ต้องรับผิดดังกล่าว โดยต้นเงินที่จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ต้องรับผิดต้องไม่เกิน 2,571,364.40 บาท และดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 205,624.89 บาท ตามคำฟ้อง ให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งเนื้อปูปรุงรสแช่แข็งไปให้ลูกค้าของโจทก์ที่เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจำเลยตกลงรับจ้าง ต่อมาในวันที่ 26 กันยายน 2548 จำเลยได้รับสินค้า 400 หีบห่อ รวมน้ำหนักสินค้าและหีบห่อ 4,265 กิโลกรัม มูลค่า 56,740 ดอลลาร์สหรัฐ ไปจากโจทก์ จำเลยทำประกันภัยความรับผิดไว้กับจำเลยร่วมที่ 1 ในวงเงินทุนประกันภัย 20,000,000 บาท หลังจากรับสินค้าแล้ว จำเลยจัดส่งสินค้าไปทางสายการบินของจำเลยร่วมที่ 2 สินค้าของโจทก์ไปถึงสนามบินปลายทางที่เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 27 กันยายน 2548 แต่เนื่องจากจำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ที่จะต้องดูแลสินค้าของโจทก์ให้อยู่ในสภาพแช่แข็งรักษาอุณหภูมิไว้ที่ลบ 18 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า แยกสินค้าออกมาวางไว้บนที่วางรองสินค้าในโกดังเก็บสินค้าซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึง 26.67 องศาเซลเซียส ทำให้เนื้อปูปรุงรสแช่แข็งของโจทก์ต้องเสียสภาพเสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ ลูกค้าของโจทก์ปฏิเสธการรับสินค้าดังกล่าวของโจทก์ โจทก์เคยยื่นฟ้องคดีที่ศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ 4174/2549 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549 ตามคำฟ้องระบุชื่อจำเลยว่า “บริษัทที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส จำกัด” ต่อมาศาลแพ่งเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2549 โจทก์จึงได้มายื่นฟ้องจำเลยที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2549 ระบุชื่อจำเลยว่า “บริษัทไทยมาสเตอร์ทรานสปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส (ทีเอ็มที) จำกัด หรือที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส” สำหรับจำเลยร่วมที่ 2 โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยร่วมที่ 2 ต่อศาลแพ่งและวันที่จำเลยร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีซึ่งถือเป็นวันที่จำเลยร่วมที่ 2 ถูกฟ้อง คือวันที่ 22 ธันวาคม 2549 เมื่อนับจากวันที่ 27 กันยายน 2548 เป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 2 ขาดอายุความแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 เพียงข้อเดียวว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งโดยระบุชื่อจำเลยว่า “บริษัทที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส จำกัด” เป็นการฟ้องผิดตัว ทำให้เมื่อมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยระบุชื่อจำเลยว่า “บริษัทไทยมาสเตอร์ทรานสปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส (ทีเอ็มที) จำกัด หรือที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส” สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงได้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามหลักฐานหนังสือรับรองบริษัทไทยมาสเตอร์ทรานสปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส (ทีเอ็มที) จำกัด และสำเนาหนังสือรับรองบริษัทที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส จำกัด แสดงให้เห็นว่าทั้งสองบริษัทเป็นนิติบุคคลต่างกัน แต่ชื่อของทั้งสองบริษัทนั้นใกล้เคียงกันมาก คำว่า “ที.เอ็ม.ที.” ที่เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส จำกัด เข้าลักษณะของอักษรย่อที่ย่อมาจากคำว่า “ไทยมาสเตอร์ทรานสปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนล” ที่เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทไทยมาสเตอร์ทรานสปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส (ทีเอ็มที) จำกัด และยังปรากฏตามหนังสือรับรองว่า บริษัททั้งสองมีนายเผดิมเกียรติ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทเช่นเดียวกัน และกรรมการผู้มีอำนาจคนอื่นของทั้งสองบริษัทก็ต่างมีนามสกุล “สมบัติพิบูลย์” เช่นเดียวกันทั้งสิ้น เชื่อได้ว่าทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน และเมื่อตามใบรับขนทางอากาศของจำเลยร่วมที่ 2 ในส่วนที่เป็นตราประทับของบริษัท และในส่วนที่เป็นช่องลายมือชื่อผู้ส่งสินค้าหรือตัวแทนระบุชื่อไว้ชัดเจนว่า “TMT” กับในช่องลายมือชื่อผู้ขนส่งหรือตัวแทนผู้ออกเอกสารก็มีตราประทับแสดงเครื่องหมายการค้าของบริษัทโดยมีคำว่า “TMT” ขนาดใหญ่กว่าคำหรือข้อความอื่นมาก คำว่า “THAI MASTER TRANSPORT INTERNATIONAL SERVICE (T.M.T.) CO., LTD.” เป็นเพียงถ้อยคำภาษาอังกฤษที่ตัวอักษรขนาดเล็กกว่าคำว่า “TMT” มาก เมื่อได้ความจากนายสมภพ พยานโจทก์ซึ่งเป็นทนายโจทก์ตอบทนายจำเลยและทนายจำเลยร่วมที่ 1 ถามค้านใจความว่า โจทก์ประสงค์จะฟ้องบริษัทผู้ออกใบรับขนทางอากาศซึ่งระบุชื่อทางการค้าว่า ที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส ตัวแทนโจทก์จึงไปคัดหนังสือรับรองและได้หนังสือรับรองบริษัทที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส จำกัด หลังจากยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งแล้วโจทก์ตรวจสอบชื่อนิติบุคคลของจำเลยอีกครั้งพบว่าผิดพลาด แต่ก่อนโจทก์จะดำเนินการขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับชื่อจำเลย ศาลแพ่งได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องเสียก่อน เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงระบุชื่อบริษัทไทยมาสเตอร์ทรานสปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส (ทีเอ็มที) จำกัด หรือที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิสเป็นจำเลย จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า โจทก์มีความประสงค์ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่รับจ้างโจทก์ขนส่งทางอากาศสินค้าเนื้อปูปรุงรสแช่แข็งและทำให้สินค้าดังกล่าวเสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์ได้อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ซึ่งก็คือ บริษัทไทยมาสเตอร์ทรานสปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส (ทีเอ็มที) จำกัด หรือชื่อทางการค้าว่า ที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิสแต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งแล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้องในอีก 7 วัน ต่อมาโดยเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลแพ่ง เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีโอกาสขอแก้ไขคำฟ้องในข้อผิดพลาดผิดหลงเกี่ยวกับชื่อจำเลย จำเลยเองก็ไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่า จำเลยไม่ใช่บุคคลที่รับจ้างโจทก์ขนส่งทางอากาศสินค้าเนื้อปูปรุงรสแช่แข็ง แต่กลับระบุว่าความเสียหายของสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของจำเลย ทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาในคดีนี้ เมื่อพิจารณาต่อไปว่า สำเนาใบรับสินค้าและสำเนาใบรับขนทางอากาศเอกสารท้ายฟ้องในคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกับเอกสารท้ายฟ้องในคดีนี้ก็เป็นชุดเดียวกัน จึงฟังได้ว่าผู้โต้แย้งสิทธิที่แท้จริงต่อโจทก์ คือ จำเลยนั่นเอง ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และถือว่าโจทก์ได้เคยฟ้องจำเลยคดีนี้ต่อศาลแพ่งแล้ว และสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยยังไม่ขาดอายุความดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share