แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์หรือไม่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้คัดค้านคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้อง โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์วันที่ 4 สิงหาคม 2548 ล่วงพ้นกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ แล้ว แม้จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงต้องถือว่าวันขายทอดตลาดคือวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 มิใช่วันที่คดีเกี่ยวกับคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดถึงที่สุด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 54,462 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนั้บแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 21095 ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยแล้วขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 โดยนางศิริพรเป็นผู้ประมูลได้ในราคา 250,000 บาท
วันที่ 4 สิงหาคม 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3216/2542 ของศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง นอกจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้แล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีก ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเขาเฉลี่ยทรัพย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 21095 ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลย แล้วขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 โดยนางศิริพรเป็นผู้ประมูลได้ในราคา 250,000 บาท ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3216/2542 ของศาลชั้นต้น และยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2548
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของผู้ร้องว่า โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นหรือไม่ ผู้ร้องแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้คัดค้านคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องจึงไม่มีประเด็นต่อสู้และไม่ควรรับอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เห็นว่า ปัญหาว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์หรือไม่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้คัดค้านคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้อง โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่และใช้บังคับแล้ว บัญญัติว่า “ในกรณีที่ยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลอดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น คำขอเช่นว่านี้ให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายได้ในครั้งนั้นๆ” คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์วันที่ 4 สิงหาคม 2548 จึงล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ที่ผู้ร้องแก้อุทธรณ์ว่า จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ระยะเวลา 14 วันต้องนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงต้องถือว่าวันขายทอดตลาดคือวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 หาใช่วันที่คดีเกี่ยวกับคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดถึงที่สุดดังที่ผู้ร้องเข้าใจไม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องเสีย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ