คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ จำเลยทั้งสาม และจำเลยร่วมทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าคำพิพากษานั้นไม่ชอบเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเข้าข้อยกเว้นที่สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาได้ตามมาตรา 138 วรรคสอง (2) จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษานั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์และคดีถึงที่สุดไปแล้วจำเลยที่ 1 จะมายื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้สั่งห้ามมิให้จำเลยเข้าไปทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมการใช้ประโยชน์ ปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ช่วงที่ 1 ระหว่างหมายเลข 16-17-8-24 ซึ่งทางดังกล่าวทะลุเข้าไปในเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 8247 ของผู้อื่น กว้างประมาณ 8 เมตร ในแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 5 และช่วงที่ 2 ระหว่างหมายเลข 3-4-5-8-17-6-3 ในแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 5 กว้าง 8 เมตร และบังคับให้จำเลยตัดขุดรื้อถอนต้นไม้พืชผลที่จำเลยปลูกบนทางสาธารณประโยชน์ทั้งสองช่วงนั้นเสีย ถ้าจำเลยไม่ทำตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนเจตนาจำเลย และให้จำเลยนำโฉนดที่ดินไปมอบให้เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อแบ่งแยกกันเป็นทางสาธารณประโยชน์ทั้งสองช่วงนั้นเสีย ถ้าจำเลยไม่ทำตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทนจำเลย โดยให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจออกใบแทนที่แบ่งหักกันเป็นทางสาธารณะประโยชน์แล้วได้ด้วย
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองขอให้เรียกนางประยงค์เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความตกลงกันได้ และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2547 และศาลได้พิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมความนั้นแล้ว
ต่อมาในวันที่ 2 กันยายน 2547 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว กรณีตามคำร้องเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ทำสัญญาประนีประนอมโดยถูกฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 (1) ซึ่งจำเลยที่ 1 ชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 จะมาร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 อ้างมาด้วยว่าโจทก์บรรยายฟ้องขอให้บังคับเฉพาะที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ดินเลขที่ 8391 เท่านั้น หาได้กล่าวถึงที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8249 แต่อย่างใด แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อความให้จำเลยทั้งสามยกที่ดินบางส่วนตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8249 ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ด้วย คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับคำร้องของจำเลยที่ 1 ไว้ดำเนินการต่อไป นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 อ้างกรณีดังกล่าวมาด้วย แต่ตามข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าคำพิพากษานั้นไม่ชอบ เป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเห็นว่าเมื่อโจทก์ จำเลยทั้งสาม และจำเลยร่วมทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลและศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าคำพิพากษานั้นไม่ชอบ เป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังกล่าว ซึ่งเข้าข้อยกเว้นที่จำเลยที่ 1 สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง (2) จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษานั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์และคดีถึงที่สุดไปแล้วเช่นนี้ จำเลยที่ 1 จะมายื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share