แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า โจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่า บ. เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนธนาคาร ก. ผู้โอน หนังสือการโอนขายสินเชื่อระหว่างผู้โอนกับโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ไม่อาจนำมาฟ้องบังคับจำเลยได้ และพิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเนื้อหาแห่งคดีว่าจำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้หรือไม่ อันเป็นเรื่องโจทก์แสดงอำนาจฟ้องไม่ถูกต้องคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ให้รับผิดในมูลหนี้เดิมโดยแสดงหลักฐานการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนธนาคาร ก. ของ บ. ย่อมเป็นการแสดงอำนาจฟ้องให้ปรากฏว่าโจทก์ทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาจากผู้โอนแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เป็นผู้บริหารสินทรัพย์ และรับซื้อสินเชื่อประเภทด้อยคุณภาพจากบริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงสัญญาหลักประกันอันเกี่ยวกับสินเชื่อด้อยคุณภาพ โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มีอยู่ต่อจำเลยมาเป็นของโจทก์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2534 จำเลยเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้ยืมเงินซึ่งจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันด้วย จากบริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้บัญชีเดินสะพัด 723.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 527.74 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชำระหนี้เงินกู้จำนวน 3,172,728.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,974,670.55 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 667/2545 ของศาลชั้นต้น ในสัญญาโอนสินเชื่อตามฟ้องผู้ลงนามแทนบริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนและไม่มีตราประทับของบริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้และผู้ลงนามแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ สัญญาโอนขายสินเชื่อตามฟ้องจึงไม่สมบูรณ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 แล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 667/2545 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1030/2545 ของศาลชั้นต้น ในมูลหนี้เดียวกันกับในคดีนี้ ในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 667/2545 ว่า โจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่านายบันฑูรเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้โอน หนังสือการโอนขายสินเชื่อระหว่างผู้โอนกับโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ไม่อาจนำมาฟ้องบังคับจำเลยได้ และพิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเนื้อหาแห่งคดีว่าจำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้หรือไม่ อันเป็นเรื่องโจทก์แสดงอำนาจฟ้องไม่ถูกต้อง คดีดังกล่าวคู่ความมิได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ให้รับผิดในมูลหนี้เดิมโดยแสดงหลักฐานการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ของนายบัณฑูรตามสำเนาหนังสือรับรองของบริษัทธนาคารกสิกรไทย (มหาชน) ท้ายคำฟ้อง ย่อมเป็นการแสดงอำนาจฟ้องให้ปรากฏว่าโจทก์ทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาจากผู้โอนแล้ว คดีของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ