คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 354/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 มิได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญา ดังนั้น แม้มิได้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์มาแต่แรกในขณะทำสัญญา แต่เมื่อได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้วในขณะฟ้องคดีนี้ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ 80,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่ชำระคืนแก่โจทก์ตามกำหนดจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน3,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 83,000 บาทแก่โจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 80,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2 ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในภายหลังถือได้ว่ามิได้ปิดอากรแสตมป์โดยบริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 103 การที่โจทก์ปิดอากรแสตมป์และฆ่าอากรแสตมป์เองในภายหลังไม่อาจรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน83,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 80,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยทั้งสองฎีกาว่าหนังสือสัญญากู้และหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2ปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้มิได้ปิดและขีดฆ่าในขณะทำสัญญา จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้นเห็นว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า ‘ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้วฯลฯ’ ตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ ดังนี้ แม้มิได้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์มาแต่แรกในขณะทำสัญญา แต่เมื่อได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้วในขณะฟ้องคดีนี้ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share