แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นพนักงานฝ่ายผลิต ทำงานกะกลางวันประจำแท่นผลิตเอราวัณ เมื่อเลิกงานแล้วจะพักอยู่ที่แท่นพักอาศัย จำเลยให้โจทก์ไปทำงานที่แท่นผลิตจูเลียสเป็นการชั่วคราว เมื่อเลิกงานแล้วจำเลยให้โจทก์นอนพักอยู่บนเรือเจาะก๊าซซึ่งจำเลยจัดให้มีที่พักอาศัย และในระหว่าง 18 นาฬิกา ถึง 6 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนนั้นจำเลยอาจสั่งให้โจทก์ขึ้นมาปฏิบัติงานปิดเปิดวาล์วโดยจ่ายค่าล่วงเวลาให้ตามความเป็นจริง การที่จำเลยให้โจทก์นอนพักบนเรือเจาะก๊าซก็เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานกะกลางวันในวันรุ่งขึ้นและสภาพไม่ต่างไปจากแท่นพักอาศัยเดิม มิใช่จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาในวันดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้ปลุกโจทก์ขึ้นมาปฏิบัติงานปิดเปิดวาล์วจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลให้รวมพิจารณาพิพากษาด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่พนักงานฝ่ายผลิตได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 17,450 บาท และ 22,570 บาท ตามลำดับ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน กำหนดให้ทำงานเป็นกะ กะละ 14 วัน และหยุดพัก 14 วัน ต่อเนื่อง ในการทำงานล่วงเวลาโจทก์ทั้งสองจะได้รับเงินจูงใจในการทำงานล่วงเวลาชั่วโมงละ 95 บาท จำเลยสั่งให้โจทก์ที่ 1 ทำงานล่วงเวลาระหว่างวันที่5 ถึง 7 ธันวาคม 2538 และให้โจทก์ที่ 2 ทำงานล่วงเวลาในวันที่ 8 ธันวาคม 2538 แต่จำเลยไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลาและค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา 5,843 บาท และค่าล่วงเวลาในวันหยุด 4,709 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ค่าล่วงเวลา 3,456 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2538 และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลา 7 วันจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาระหว่างวันที่ 5 ถึง 8 ธันวาคม 2538 ระหว่างเวลา 18 นาฬิกาถึง 6 นาฬิกา และโจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงานล่วงเวลาในช่วงเวลาดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลย ทำหน้าที่พนักงานฝ่ายผลิต ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 17,450 บาท และ 22,570 บาท ตามลำดับ ทำงานประจำแท่นเอราวัณซึ่งเป็นแท่นผลิตก๊าซในอ่าวไทยห่างฝั่งประมาณ 250 กิโลเมตร โดยจำเลยจัดแท่นให้เป็นที่พักอาศัย เกี่ยวกับคดีนี้จำเลยให้โจทก์ทั้งสองทำงานกะกลางวันที่แท่นจูเลียสซึ่งเป็นแท่นผลิตอีกแห่งหนึ่ง โดยโจทก์ที่ 1ทำงานระหว่างวันที่ 5 ถึง 7 ธันวาคม 2538 ส่วนโจทก์ที่ 2 ทำงานวันที่ 8 เดือนเดียวกันตามปกติเมื่อทำงานเสร็จโจทก์ทั้งสองจะกลับไปพักที่แท่นพักอาศัย แต่ในวันดังกล่าวมีเรือมาขุดเจาะก๊าซที่แท่นจูเลียส เมื่อเสร็จงานจำเลยจึงให้โจทก์ทั้งสองพักบนเรือซึ่งจำเลยจัดให้เป็นที่อาศัย ช่วงเวลาที่โจทก์ทั้งสองพักอาศัยอยู่นั้นระหว่างเวลา 18 นาฬิกา ถึง 6นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นหากจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองปิดเปิดวาล์วจำเลยก็จะจ่ายค่าล่วงเวลาให้ตามความเป็นจริงโดยคิดตั้งแต่ตื่นนอนแล้วเดินไปปิดเปิดวาล์วใช้เวลาประมาณ30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง กรณีที่จะต้องปลุกพนักงานผลิต ซึ่งพักผ่อนอยู่มาปิดเปิดวาล์วมีประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น และสำหรับวันเวลาดังกล่าวจำเลยมิได้ปลุกโจทก์ทั้งสองขึ้นมาทำงานแต่อย่างใด ดังนี้หากโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลาแล้วคู่ความรับว่าค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามฟ้องถูกต้องโดยโจทก์ทั้งสองสละสิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มและดอกเบี้ยตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามวันเวลาที่โจทก์ทั้งสองไปทำงานกะกลางวันที่แท่นผลิตจูเลียสนั้น เมื่อเสร็จงานจำเลยจัดให้โจทก์ทั้งสองพักอาศัยในเรือขุดเจาะแทนซึ่งมีความสะดวกไม่ต่างไปจากแท่นพักอาศัย และไม่ว่าโจทก์ทั้งสองจะพักอาศัยอยู่แห่งใดจำเลยมีหน้าที่จ่ายค่าล่วงเวลาเฉพาะที่ปลุกโจทก์ทั้งสองขึ้นมาปิดเปิดวาล์วระหว่างเวลา18 นาฬิกา ถึง 6 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น เท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองรับว่าระหว่างวันที่ 5 ถึง8 ธันวาคม 2538 จำเลยมิได้สั่งให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งสอง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า ตามที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสองทำงานกะกลางวันที่แท่นผลิตจูเลียสนั้น โจทก์ที่ 1 ทำงานระหว่างวันที่ 5 ถึง 7ธันวาคม 2538 ส่วนโจทก์ที่ 2 ทำงานวันที่ 8 เดือนเดียวกัน โดยปกติเมื่อเลิกงานแล้วโจทก์ทั้งสองจะกลับแท่นพักอาศัย แต่ตามวันดังกล่าวมีเรือมาขุดเจาะที่แท่นผลิตจูเลียสเมื่อโจทก์ทั้งสองเลิกงานแล้วจำเลยได้จัดที่พักอาศัยบนเรือให้ ต้องแปลว่าจำเลยได้สั่งให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาแล้วแม้จำเลยจะไม่ปลุกโจทก์ทั้งสองขึ้นมาปิดเปิดวาล์วระหว่างเวลา 16 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา (ที่ถูกเวลา 18 นาฬิกา ถึง 6 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น) ก็ตามจำเลยก็ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งสอง พิเคราะห์แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานฝ่ายผลิต ตามปกติทำงานกะกลางวันประจำแท่นผลิตเอราวัณ เมื่อเลิกงานแล้วจะพักอยู่ที่แท่นพักอาศัยแต่วันที่เกิดพิพาทเป็นคดีนี้จำเลยให้โจทก์ทั้งสองไปทำงานที่แท่นผลิตจูเลียสเป็นการชั่วคราว เมื่อเลิกงานแล้วจำเลยจึงให้โจทก์ทั้งสองนอนพักอยู่บนเรือเจาะก๊าซซึ่งจำเลยจัดให้มีที่พักอาศัยและในระหว่าง 18 นาฬิกา ถึง 6 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนนั้นจำเลยอาจสั่งให้โจทก์ทั้งสองขึ้นมาปฏิบัติงานปิดเปิดวาล์วโดยจ่ายค่าล่วงเวลาให้ตามความเป็นจริง เห็นว่า การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสองนอนพักบนเรือขุดเจาะก็เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานกะกลางวันในวันรุ่งขึ้นและเป็นไปตามสภาพของที่พักอาศัยซึ่งต้องถูกจำกัดอยู่บนท้องทะเลไม่ต่างไปจากแท่นพักอาศัยเดิม กรณีจึงหาใช่จำเลยสั่งให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาในวันดังกล่าวไม่ การที่จำเลยอาจปลุกโจทก์ทั้งสองขึ้นมาปฏิบัติงานปิดเปิดวาล์วโดยจะจ่ายค่าล่วงเวลาให้ตามความเป็นจริงนั้นเป็นเพียงข้อตกลงการจ่ายค่าล่วงเวลาซึ่งต้องมีการปฏิบัติงานจริงเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับกันว่าตามวันที่พิพาทกันจำเลยมิได้ปลุกโจทก์ขึ้นมาปฏิบัติงานปิดเปิดวาล์วแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งสองศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน