แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ธนาคารโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยโดยอ้างว่า จำเลยเบิกเงินเกินไปจากบัญชีระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ใช้สิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่โจทก์ได้อายัดไว้ก่อนฟ้อง แม้เป็นการกระทำที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจไว้อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยก็ตาม จำเลยชอบที่จะไปยื่นฟ้องโจทก์ เป็นคดีใหม่เพราะมิใช่เรื่องการกำหนดวิธีการคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยระหว่างพิจารณาที่จำเลยจะยื่นเข้ามาในคดีเดิมได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยเนื่องจากเครื่องคอมพิวเตอร์บันทึกรายการนำเช็คเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยซ้ำซ้อน ทำให้เงินในบัญชีของจำเลยเพิ่มขึ้น 35,505 บาท และจำเลยเบิกถอนเงินดังกล่าวไปใช้โดยไม่มีสิทธิ โจทก์ทวงถามแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 46,900.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 35,505 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยนำเช็คฝากเข้าบัญชีของจำเลยตามฟ้องโจทก์ไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์ใช้สิทธิหักเงินจำนวน 12,000 บาท จากบัญชีเงินฝากของจำเลยอ้างว่าเป็นการหักกลบลบหนี้โดยโจทก์อายัดเงินจำนวนดังกล่าวไว้ก่อนฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เงินดังกล่าวเป็นเงินเดือนของจำเลยที่ทางราชการจ่ายให้จำเลยผ่านโจทก์ จำเลยไม่เคยตกลงให้โจทก์หักเงินดังกล่าว ปัจจุบันโจทก์ยังอายัดบัญชีเงินฝากของจำเลยอยู่ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์คืนเงิน 12,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์หักเงินไปและห้ามโจทก์ยุ่งเกี่ยวกับเงินฝากในบัญชีของจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ากรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ดำเนินการไปโดยมิได้อาศัยคำสั่งศาลหากกระทบสิทธิของจำเลยอย่างใด จำเลยชอบที่จะไปว่ากล่าวตามกฎหมายต่อไปให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามโจทก์ยุ่งเกี่ยวกับเงินฝากในบัญชีของจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิหักเงินจำนวน 12,000 บาท จากบัญชีของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นการหักกลบลบหนี้ที่โจทก์ได้อายัดเงินจำนวนดังกล่าวไว้ก่อนฟ้องจำเลยนั้นหากโจทก์กระทำไปโดยไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจไว้ กรณีย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลย ซึ่งทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะดำเนินการแก้ไขเยียวยาโดยการนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาพิพากษาในปัญหาเช่นว่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ทั้งกรณีไม่ใช่เรื่องการกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน