คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1933/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายให้เห็นว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์โดยระบุจำนวนเงินราคาสินค้าว่าเป็นเท่าไร จำเลยชำระให้โจทก์แล้วจำนวนเท่าไร เหลือหนี้ค่าสินค้าอีกเท่าไรที่จำเลยต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ย โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินบาทมาด้วย ถือเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการฟ้องขอบังคับให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นที่เข้าใจได้แล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องบรรยายข้อเท็จจริงอื่นใดอีก
การที่จะพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ต้องพิจารณาเฉพาะคำฟ้องโจทก์เป็นสำคัญว่าบรรยายฟ้องถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยให้เข้าใจได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 หรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคำให้การต่อสู้ของจำเลยตลอดถึงการนำสืบของโจทก์ในชั้นพิจารณา
จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ตามราคาที่แท้จริงในใบแจ้งหนี้เป็นเงิน 195,846.02ดอลลาร์สิงคโปร์ แต่โจทก์ออกใบแจ้งหนี้ให้แก่จำเลยด้วยราคาที่ต่ำกว่าที่ซื้อขายกันจริงซึ่งรวมเป็น 146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ เนื่องมาจากการร้องขอของจำเลย เมื่อโจทก์ได้ร่วมมือกับจำเลยสำแดงราคาสินค้าเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร แม้ผู้เสียภาษีอากรดังกล่าวจะเป็นจำเลยผู้นำเข้าและจำเลยยังไม่ถูกกล่าวหาตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย แต่โจทก์จำเลยประกอบธุรกิจมีเจตนาเป็นการเอาเปรียบประเทศไทย ถือได้ว่าไม่สุจริตด้วยกัน โจทก์จึงไม่อาจจะยกเอาความไม่สุจริตขึ้นมาเรียกร้องเอาเงินได้เต็มจำนวน 195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งมีจำนวนที่หลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรรวมอยู่ด้วยได้ จำเลยคงรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์เฉพาะค่าสินค้าจำนวน 146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ซึ่งเป็นส่วนที่จำเลยนำไปเสียภาษีนำเข้าต่อกรมศุลกากรแล้ว
โจทก์จำเลยติดต่อซื้อขายสินค้ากันด้วยเงินดอลลาร์สิงคโปร์จำเลยไม่ชำระ จำเลยก็ต้องรับผิดชำระเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ตามที่ตกลงติดต่อซื้อขายสินค้ากัน แต่หากจำเลยจะชำระเป็นเงินบาทก็ต้องชำระด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามมาตรา 196 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจำเลยอาจได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวันได้ แต่ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลย เพราะโจทก์ต้องได้รับชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์เท่ากับที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์เสมอตามคำพิพากษา ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาว่า หากจำเลยจะชำระเป็นเงินบาทก็ให้ชำระตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินจึงชอบแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาทโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท ดังนั้น คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนที่ให้จำเลยชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงิน โดยไม่ได้ระบุไว้ด้วยว่าอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงินต้องไม่เกิน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท ตามคำขอของโจทก์ จะเกิดผลว่าหากอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงินต่อ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์เกิน 18 บาท คำพิพากษาของศาลในส่วนนี้จะเกินคำขอ ศาลฎีกาจึงกำหนดไว้ด้วยว่าต้องไม่เกินตามคำขอของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย มีสาขาที่ประเทศสิงคโปร์ จำเลยติดต่อซื้อสินค้าจำพวกน้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเกียร์ น้ำมันเครื่องและน้ำยาชนิดต่าง ๆ ซึ่งโจทก์จัดจำหน่ายผ่านบริษัทฮาวท์ตันสิงคโปร์ จำกัด สำนักงานสาขาที่ประเทศสิงคโปร์ ตลอดมาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปี 2537 โจทก์ได้จัดส่งผลิตภัณฑ์ให้จำเลยโดยวิธีขนส่งทางเรือและทางอากาศหลายครั้ง แต่จำเลยชำระราคาเพียงบางส่วนผิดนัดไม่ชำระตามระยะเวลาที่ถึงกำหนด 120 วัน นับแต่วันที่ระบุในใบแจ้งหนี้ (อินวอยซ์)แต่ละฉบับเป็นจำนวน 8 ฉบับ รวมราคาสินค้าเป็นเงิน 195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์ และจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นเงิน8,793.85 ดอลลาร์สิงคโปร์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 204,639.87 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งคิดคำนวณเป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับ 18 บาท เป็นเงินไทยทั้งสิ้น 3,683,517.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,683,517.60 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 3,525,228.30 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยเคยติดต่อค้าขายกับบริษัทฮาวท์ตัน สิงคโปร์ จำกัด โดยตกลงให้จำเลยเป็นตัวแทนขายสินค้าในประเทศไทยใบแจ้งหนี้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข3 ถึงหมายเลข 10 เป็นเอกสารเท็จซึ่งโจทก์ทำขึ้นใหม่ โดยระบุราคาขายสินค้าต่อหน่วยสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันจริง ระบุจำนวนสินค้าเกินกว่าจำนวนที่ส่งมาจริงปลอมเลขที่ใบแจ้งหนี้ เอกสารใบแจ้งหนี้ที่ถูกต้องตามที่จำเลยสั่งซื้อสินค้าตามใบแจ้งหนี้ รวมเป็นเงินค่าสินค้า 146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งใบแจ้งหนี้ดังกล่าวได้ผ่านพิธีการเสียภาษีขาเข้าทางศุลกากรแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้วและจำเลยได้ชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 และ 4 เป็นเงิน 21,310.37 ดอลลาร์สิงคโปร์ คงค้างชำระเพียง 125,293.57 ดอลลาร์สิงคโปร์ การที่โจทก์ทำเอกสารปลอมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าสูงกว่าความเป็นจริง และเรียกเงินค่าสินค้าที่จำเลยได้ชำระไปแล้วบางส่วนอีก การที่โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับ 18 บาท จำเลยไม่อาจทราบได้ว่าคิดอย่างไรจากมาตรฐานไหน เวลาใด ทำให้จำเลยเสียเปรียบหลงในข้อต่อสู้ ไม่สามารถรู้ว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่เท่าใด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 131,354.96 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 125,293.57 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเดียวกันนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อปี2537 จำเลยได้นำเข้าสินค้าจำพวกน้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเกียร์ น้ำมันเครื่องและน้ำยาชนิดต่าง ๆ จากบริษัทฮาวท์ตัน สิงคโปร์ จำกัด ซึ่งเป็นสำนักงานสาขาของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยรวม 8 ครั้ง เมื่อโจทก์ส่งสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้วจำเลยได้นำใบแจ้งหนี้ตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.9 (เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 ถึง 10)รวมเป็นเงิน 146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ ไปผ่านพิธีการเสียภาษีนำเข้าที่กรมศุลกากรต่อมาจำเลยได้โอนเงินผ่านธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางจาก ให้แก่โจทก์สำนักงานสาขาสิงคโปร์เป็นการชำระหนี้ไปที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ จำนวน21,310.37 ดอลลาร์สิงคโปร์ ตามเอกสารหมาย จ.50

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องเป็นเพียงการสรุปข้อเท็จจริงถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร พร้อมคำขอที่จะบังคับจำเลยเพียงเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจคำฟ้องเพื่อที่จะได้ให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้องเท่านั้น ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายให้เห็นว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์โดยระบุจำนวนเงินราคาสินค้าว่าเป็นเท่าไร จำเลยชำระให้โจทก์แล้วจำนวนเท่าไร เหลือหนี้ค่าสินค้าอีกเท่าไรที่จำเลยต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ย โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินบาทมาด้วยนั้น ถือเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการฟ้องขอบังคับให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นที่เข้าใจได้แล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องบรรยายข้อเท็จจริงอื่นใดอีก การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การต่อสู้ว่าใบแจ้งหนี้ที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องเป็นใบแจ้งหนี้ปลอม ไม่ใช่ใบแจ้งหนี้จริงที่จำเลยได้รับจากบริษัทฮาวท์ตันสิงคโปร์ จำกัด การที่โจทก์นำนางสาวชูชาน ตัน พนักงานธุรการและทำบัญชีของบริษัทฮาวท์ตัน สิงคโปร์ จำกัด มาเบิกความว่า การซื้อขายกันระหว่างโจทก์และจำเลยเท่าที่ปฏิบัติกันมา โจทก์จะออกใบแจ้งหนี้ให้จำเลย 2 ชุด ชุดแรกใช้เป็นหลักฐานในการนำเข้าสินค้าซึ่งราคาจะต่ำกว่าราคาจริง ส่วนชุดที่สองเป็นชุดที่กำหนดราคาสินค้าไว้จริงตามที่ซื้อขายกัน ซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญที่ทำให้ศาลรับฟังโดยโจทก์มิได้ระบุในคำฟ้องทำให้จำเลยหลงต่อสู้นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่ามิได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องและเป็นข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาที่โจทก์จะนำพยานเข้าสืบให้เห็นถึงความมีอยู่ที่แท้จริงของใบแจ้งหนี้ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าไม่ใช่เป็นเอกสารปลอมดังเช่นที่จำเลยให้การต่อสู้ได้ การที่จะพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้นต้องพิจารณาเฉพาะคำฟ้องโจทก์เป็นสำคัญว่าบรรยายฟ้องถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยให้เข้าใจได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 หรือไม่ เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคำให้การต่อสู้ของจำเลยตลอดถึงการนำสืบของโจทก์ในชั้นพิจารณาเช่นที่จำเลยฎีกาดังกล่าวแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคำฟ้องของโจทก์ว่าไม่เคลือบคลุมนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ซึ่งปัญหานี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ตามราคาที่แท้จริงในใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.13ซึ่งรวมเป็นเงินค่าสินค้าทั้งสิ้น 195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์ จำเลยผู้ซื้อย่อมมีหน้าที่ชำระราคาสินค้าให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากได้ความโดยแน่ชัดว่า โจทก์ได้ออกใบแจ้งหนี้ให้แก่จำเลยด้วยราคาที่ต่ำกว่าที่ซื้อขายสินค้ากันจริงตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.9 ซึ่งรวมเป็น 146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ เหตุที่โจทก์ออกใบแจ้งหนี้ให้จำเลยด้วยราคาสินค้าที่ต่ำกว่าซึ่งขายกันจริงนั้น นางสาวชูชาน ตัน เบิกความว่า เพื่อให้จำเลยนำใบแจ้งหนี้ดังกล่าวไปเสียภาษีนำเข้า ดังนี้แม้การออกใบแจ้งหนี้เช่นนี้จะเนื่องมาจากการร้องขอของนายธวัชชัยกรรมการผู้จัดการจำเลยก็ตาม พฤติการณ์ย่อมเห็นได้ว่า โจทก์ได้ร่วมมือกับจำเลยสำแดงราคาสินค้าเท็จคือต่ำกว่าที่ซื้อขายกันจริงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรในการนำเข้าสินค้าต่อกรมศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร แม้ผู้เสียภาษีอากรดังกล่าวจะเป็นจำเลยผู้นำเข้าและจำเลยก็ยังไม่ถูกเจ้าพนักงานกล่าวหากระทำผิดตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27, 99 ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความแน่ชัดเช่นนี้จึงทำให้เห็นว่า โจทก์จำเลยประกอบธุรกิจมีเจตนาเป็นการเอาเปรียบประเทศไทย ถือได้ว่าไม่สุจริตด้วยกัน โจทก์จึงไม่อาจจะยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องเอาได้เต็มจำนวน 195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งมีจำนวนที่โจทก์ร่วมมือกับจำเลยหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรรวมอยู่ด้วยได้ จำเลยจึงคงรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์เฉพาะค่าสินค้าจำนวน 146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ซึ่งเป็นส่วนที่จำเลยนำไปเสียภาษีนำเข้าต่อกรมศุลกากรแล้ว ซึ่งเมื่อหักจำนวน 21,310.37ดอลลาร์สิงคโปร์ ที่จำเลยชำระแล้วออกจึงยังคงเหลือจำนวนที่จำเลยต้องชำระอีก125,293.57 ดอลลาร์สิงคโปร์ พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ต่างจากกรณีที่ราษฎรด้วยกันที่ต่างอ้างการครอบครองเหนือที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินว่าฝ่ายใดจะมีสิทธิดีกว่ากันดังที่โจทก์ยกขึ้นมาในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินค่าสินค้าที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 131,354.96 ดอลลาร์สิงคโปร์นั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์จำเลยถึงอัตราแลกเปลี่ยนในการชำระหนี้ระหว่างเงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินบาทไทยว่าเป็นจำนวนเท่าใด โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้การคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินจะต้องคิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง ก็ตาม แต่อัตราแลกเปลี่ยนตามสถานที่และเวลาที่ใช้เงินก็ต้องกำหนดไว้แน่นอนในคำพิพากษาเพื่อจะได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถูกต้อง ทั้งโจทก์กล่าวอ้างอัตราแลกเปลี่ยนมาในฟ้อง 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท ก็ต้องกับคำเบิกความของนางศรีวิไล สุขะพละ พยานจำเลยซึ่งเป็นพนักงานระดับสูงของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ว่า หลังปี 2537เศรษฐกิจไทยถดถอยลงและค่าเงินไทยอ่อนกว่าเงินสิงคโปร์ปัจจุบันคือปี 2540 อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ สูงกว่า 18 บาท จึงขอให้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป็น 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท และที่จำเลยฎีกาว่า การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองนั้น ย่อมเป็นการยากที่จำเลยจะคาดคะเนได้ว่าจะถือเอาอย่างไร เพราะเป็นเรื่องอนาคต ศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์แล้วต้องคิดอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อครบเวลา 120 วัน ที่ให้สินเชื่อแก่จำเลยที่จะกำหนดได้แน่นอนซึ่งในระหว่างเดือนมิถุนายน 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2537 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 17 บาท เป็นอย่างสูง จึงขอให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สิงคโปร์มิได้มีอัตราคงที่แน่นอน แต่จะมากขึ้นหรือน้อยลงแตกต่างกันในแต่ละวันนั้นย่อมขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งโจทก์จำเลยต่างทราบดีคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากใบแจ้งหนี้ว่า โจทก์จำเลยติดต่อซื้อขายสินค้ากันด้วยเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ดังนั้น หากจำเลยชำระค่าสินค้าให้โจทก์ตามกำหนดเวลาที่โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลยในใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับแล้วซึ่งอาจเป็นอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 16.70625 บาท เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2537 ที่จำเลยชำระค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้ เลขที่ 4747 และ 4751 ตามเอกสารหมาย ล.21 และ 51 หรืออัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 17 บาท ดังที่จำเลยฎีกา ก็เป็นการชำระเงินตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาใช้เงินนั้นเอง ดังนั้น เมื่อครบกำหนดที่จำเลยต้องชำระค่าสินค้าให้โจทก์ตามที่โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลยแล้ว จำเลยไม่ชำระให้ จำเลยก็ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าให้โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ตามที่ตกลงติดต่อซื้อขายสินค้ากัน แต่หากจำเลยจะชำระเป็นเงินบาทแล้ว จำเลยก็ต้องชำระด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามบทบัญญัติมาตรา 196 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งในกรณีนี้จำเลยอาจได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สิงคโปร์ในแต่ละวันได้ แต่ทั้งนี้จะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลย เพราะโจทก์ต้องได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์เท่ากับที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์เสมอตามคำพิพากษา ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาว่า หากจำเลยจะชำระเป็นเงินบาทก็ให้ชำระตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาทโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท ดังนั้น คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนที่ให้จำเลยชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงิน โดยไม่ได้ระบุไว้ด้วยว่าอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงินต้องไม่เกิน1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท ตามคำขอของโจทก์ หากอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงินต่อ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์เกิน 18 บาท คำพิพากษาของศาลในส่วนนี้จะเกินคำขอของโจทก์ จึงเห็นสมควรกำหนดไว้ด้วยว่าต้องไม่เกินตามคำขอของโจทก์”

พิพากษายืน แต่ในส่วนที่ให้จำเลยชำระเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงินนั้น อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวต้องไม่เกิน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ 18 บาท ตามคำขอของโจทก์

Share