คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7179/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่ากรณีใดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นเหตุทางฝ่ายนายจ้างหรือเหตุทางฝ่ายลูกจ้างโดยพิจารณาว่านายจ้างมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่
จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่า “เพื่อความเหมาะสมในการบริหารงาน” ซึ่งยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่มีความเหมาะสมในการบริหารงานใด หรือจำเลยประสงค์จะให้เกิดความเหมาะสมในการบริหารงานเช่นใด จึงต้องพิจารณาจากคำให้การและข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาแสดงว่าเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ เมื่อโจทก์ทำงานในระดับบริหารต้องประสานงานกับบุคลากรในส่วนงานอื่น ๆ ในระดับเดียวกัน แต่โจทก์ปฏิบัติงานเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ แม้จำเลยจะได้ย้ายโจทก์ไปส่วนงานอื่น โจทก์ก็ยังทำงานในลักษณะเดิมโดยมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานอีก ชี้ให้เห็นว่าโจทก์น่าจะเป็นผู้ขาดมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ไม่สามารถประสานงานกับบุคลากรในส่วนอื่นได้ ย่อมทำให้เกิดความขัดข้องในการบริหารจัดการของจำเลย ทำให้การผลิตและการบริการของจำเลยขาดประสิทธิภาพ อาจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ จำเลยจึงมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้จัดการส่วนวิศวกรรม ฝ่ายผลิต ๑ จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าเพื่อความเหมาะสมในการบริหารงาน โจทก์ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโดยคิดจากเงินเดือนอัตราสุดท้าย ๙ เดือน เป็นเงิน ๕๒๘,๓๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และเมื่อเกิดปัญหาโจทก์ไม่หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา กลับหาทางปกป้องและหลีกเลี่ยงหน้าที่ของตน ทำให้เกิดปัญหากับพนักงานในองค์กร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควร จำเลยบอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะเลิกจ้างโจทก์เป็นเวลา ๑ เดือน ซึ่งโจทก์มีเวลาพอสมควรที่จะหางานใหม่ โจทก์จึงไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทำงานในหน้าที่ไม่บกพร่อง แต่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยในระดับบริหารไม่สามารถปฏิบัติงานเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ ทำให้ระบบบริหารจัดการของจำเลยเกิดอุปสรรค มีข้อขัดข้อง ขาดประสิทธิภาพและจำเลยอาจได้รับความเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๗ ที่ศาลแรงงานกลางสั่งรับมาซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยรวมกันไป โจทก์อุทธรณ์ว่าในประเด็นข้อกฎหมายที่จะต้องพิจารณาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาจากหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์ซึ่งอ้างเหตุเลิกจ้างว่าเพื่อความเหมาะสมในการบริหารงานย่อมแสดงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุผลเพียงเพื่อความเหมาะสมในการบริหารงาน โจทก์มิได้กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหรือทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์ด้วยวาจาและหนังสือ เหตุแห่งการเลิกจ้างที่จำเลยอ้างไม่มีกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้อง เห็นว่า การพิจารณาว่ากรณีใดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ หรือไม่นั้น จักต้องพิจารณาถึงมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นเหตุทางฝ่ายนายจ้างหรือเหตุทางฝ่ายลูกจ้าง โดยพิจารณาว่านายจ้างมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่า “เพื่อความเหมาะสมในการบริหารงาน” ซึ่งยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่มีความเหมาะสมในการบริหารงานใดหรือจำเลยประสงค์จะให้เกิดความเหมาะสมในการบริหารงานเช่นใด จึงต้องพิจารณาจากคำให้การและข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบต่อไป ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มิได้ทำงานบกพร่องในหน้าที่ถึงขนาดทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์ทำงานระดับบริหาร มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการส่วน มีผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคน การทำงานของโจทก์ต้องประสานงานกับส่วนงานอื่น ๆ ในระดับเดียวกัน โจทก์ถูกย้ายจากส่วนควบคุมคุณภาพเนื่องจากมีปัญหาในการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน ครั้นย้ายมาทำงานที่ส่วนวิศวกรรมการผลิต ฝ่ายผลิต ๑ โจทก์ก็ไม่สามารถทำงานเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้อีก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ เมื่อโจทก์ทำงานในระดับบริหาร ต้องประสานงานกับบุคลาการในส่วนงานอื่น ๆ ในระดับเดียวกัน แต่โจทก์ปฏิบัติงานเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ แม้จำเลยจะได้ย้ายโจทก์ไปส่วนงานอื่นโจทก์ก็ยังทำงานในลักษณะเดิมโดยมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานอีก ชี้ให้เห็นว่าโจทก์น่าจะเป็นผู้ขาดมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ไม่สามารถประสานงานกับบุคลากรในส่วนงานอื่นได้ ย่อมทำให้เกิดความขัดข้องในการบริหารจัดการของจำเลยทำให้การผลิตและการบริการของจำเลยขาดประสิทธิภาพ อาจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ จำเลยจึงมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายใดแก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share