คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3204/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาให้ชั้นอุทธรณ์นั้นต้องยื่นมาพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 และการที่ศาลอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้ ต้องประกอบด้วย เป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์พอจะเสียค่าธรรมเนียมและผู้ขอต้องแสดงให้เป็นที่พอใจศาลด้วยว่า คดีมีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ สำหรับเหตุผลอันสมควรศาลมีอำนาจตรวจดูได้จากคำฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 เมื่อศาลเห็นว่าคำฟ้องอุทธรณ์มีข้อความก้าวร้าว ดูหมิ่น เสียดสีศาล ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้แก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ หรือให้นำอุทธรณ์มายื่นใหม่ได้ โดยไม่จำต้องสั่งคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาก่อน
การที่ศาลชั้นต้นสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองฐานละเมิดอำนาจศาลสืบเนื่องมาจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นทนายโจทก์ร่วมกันนำคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นต่อศาล โดยในคำฟ้องอุทธรณ์มี ข้อความก้าวร้าว ดูหมิ่น เสียดสีศาล ถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลย่อมเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองยื่นฟ้องอุทธรณ์ โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะโจทก์ลงชื่อเป็น ผู้อุทธรณ์ และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในฐานะทนายโจทก์ลงชื่อเป็นผู้เรียงและพิมพ์ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อความในฟ้องอุทธรณ์มีลักษณะก้าวร้าว ดูหมิ่น เสียดสีศาล จึงดำเนินการไต่สวนแล้ว เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ทั้งสองเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลและขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล ถือว่าเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31, 33 (ที่ถูกมาตรา 31 (1), 33) มีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนละ 1 เดือน และปรับคนละ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนดคนละ 1 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่กำหนดโทษจำคุกและไม่ต้องรอการลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองประการแรกว่า ก่อนศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของโจทก์ ศาลชั้นต้นจะสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า คำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์นั้นกฎหมายบังคับว่าต้องยื่นมาพร้อมกับ คำฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 การที่ศาลอนุญาตให้คู่ความอุทธรณ์ได้นั้นต้องประกอบด้วยเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมและผู้ขอต้องแสดงให้เป็นที่พอใจศาลด้วยว่าคดีมี เหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ หากศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์ก็ย่อมมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้โดยไม่จำต้องไต่สวนเรื่องอนาถา สำหรับเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์ได้หรือไม่อาจจะตรวจดูได้จากคำฟ้องอุทธรณ์ที่ต้องยื่นมาพร้อมกับคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ซึ่งเป็นอำนาจตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2543 มาพร้อมกับคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ได้ก่อนตามบทบัญญัติดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาว่าสมควรจะไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มีข้อความก้าวร้าว ดูหมิ่น เสียดสีศาล เป็นทำนองว่าศาลทำไปนั้นไม่ ยุติธรรม ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้อุทธรณ์แก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์หรือให้ทำอุทธรณ์มายื่นใหม่ได้ โดยศาลชั้นต้นไม่จำต้องสั่งคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของโจทก์ก่อนดังเหตุผลที่วินิจฉัยมาข้างต้น ฎีกาผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองฐานะละเมิดอำนาจศาลเป็น การชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองฐานละเมิดอำนาจศาลก็สืบเนื่องมาจาก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นทนายโจทก์ ร่วมกันนำคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นต่อศาลชั้นต้น โดยในคำฟ้องอุทธรณ์นั้นมีข้อความว่า ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงอันเป็นนวนิยายที่จำเลยที่ 1 ผูกเรื่องแต่งขึ้น เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน การพิจารณาของศาลชั้นต้นโน้มเอียงเชื่อจำเลยทั้งหมดโดยไม่ได้พิจารณาตามเหตุผล ขาดทั้งวิจารณาญาณ ขาดสามัญสำนึก ไม่เข้าใจในความละเอียดอ่อนของเรื่องครอบครัว ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโดยขาดจริยธรรม ศาลชั้นต้นบิดเบือนข้อเท็จจริงจากที่โจทก์นำสืบ และข้อความที่ว่าผู้หญิงทุกคนเมื่อแต่งงานแล้วต้องอยู่กินแบบผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้น ไม่มีใครต้องการให้สามีไปมีใหม่ ถามภริยาท่านผู้พิพากษาคนไหนดูก็ได้ว่าจะยอมหรือไม่และไปสู่ขอให้ด้วย ข้อความนี้เป็นการยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็น เท่านั้น เห็นว่า ข้อความดังกล่าวที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองร่วมกันกล่าวอ้างมาในคำฟ้องอุทธรณ์นั้นเป็นข้อความที่ ไม่จำเป็นต้องกล่าวอ้างในคำฟ้องอุทธรณ์ แต่ประการใด ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองจะอ้างว่าเขียนขึ้นเพื่อให้ฟ้องอุทธรณ์ ชัดเจนหาได้ไม่ แม้ไม่เขียนข้อความดังกล่าวฟ้องอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองก็เป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ศาลจะพึงรับไว้พิจารณาได้ แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองกลับร่วมกันกล่าวอ้างข้อความดังกล่าวในคำฟ้องอุทธรณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีเจตนาที่จะก้าวร้าว ดูหมิ่น เสียดสีศาล เมื่อนำมายื่นต่อศาลถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลย่อมเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเป็นการละเมิดอำนาจศาลชอบแล้ว ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองทุกข้อ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share