คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3106/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นคนปัญญาอ่อน กระทำผิดโดยใช้อวัยวะของจำเลยถูที่อวัยวะเพศของผู้เสียหาย แต่ได้ความจากแพทย์ผู้รักษาจำเลยว่าจำเลยเป็นโรคคริทินซึ่งเกิดจากการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน มาแต่กำเนิดการเจริญเติบโตทางกายและสติปัญญาช้ากว่าอายุจริง จำเลยเดินได้เมื่ออายุ 7 ปี พูดประโยคได้เมื่ออายุ 9 ปีเมื่ออายุ 11 ปี 11 เดือนมีความสามารถทางสติปัญญาเท่ากับเด็ก 5 ปี มีระดับไอคิว ต่ำกว่าเด็กปกติ เรียนซ้ำชั้นประถมปีที่ 1 อยู่เป็นเวลา 5 ปี จากการตรวจก่อนเกิดเหตุสองเดือนสติปัญญายังช้า แพทย์ยืนยันว่า จำเลยไม่รู้จักเหตุผล ไม่มีการวางแผน ไม่มีความรับผิดชอบ จะต้องรักษาตัวไปตลอดชีวิตไม่มีทางหายขาดได้ ทั้งปรากฏว่าจำเลยไม่ชอบเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดไปในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะจิตบกพร่องด้วยป่วยเป็นโรคปัญญาอ่อนมาแต่กำเนิด จึงไม่ต้องรับโทษ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,277, 279 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8)พ.ศ. 2530 มาตรา 3, 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสอง, 80 และมาตรา 279 ประกอบด้วยมาตรา65 วรรคสอง ลงโทษฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา ตามมาตรา 277 วรรคสอง,80 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบและไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะโรคปัญญาอ่อน จำเลยไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรก พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า จำเลยเป็นคนปัญญาอ่อนจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องโดยใช้อวัยวะเพศของจำเลยถูที่อวัยวะเพศของผู้เสียหาย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำผิดในขณะที่ยังสามารถรู้ผิดชอบหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ได้ความจากรายงานการวินิจฉัยโรคและประวัติการตรวจรักษา ตามเอกสารหมาย ปล.1 และ ปล.2 ตลอดจนคำเบิกความของแพทย์หญิงปัญญา เพ็ญสุวรรณ แพทย์ประจำโรงพยาบาลราชานุกูลซึ่งรักษาเด็กปัญญาอ่อน พยานจำเลยว่า จำเลยเป็นโรคคริทิน(Cretinism) ซึ่งเกิดจากการขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด ทำให้การเจริญเติบโตทางร่างกายและการพัฒนาเจริญวัยทางสติปัญญาช้ากว่าอายุจริง จำเลยเพิ่งจะเดินได้เมื่ออายุ 7 ปี และพูดเป็นประโยคได้เมื่ออายุ 9 ปี เมื่ออายุ 11 ปี 11 เดือน จำเลยมีความสามารถทางสติปัญญาเท่ากับเด็กอายุ 5 ปี มีระดับไอคิว (IQ) 47 ซึ่งเด็กปกติจะมีระดับไอคิวระหว่าง 90-100 และเมื่ออายุ 14 ปี 11 เดือนจำเลยมีระดับไอคิวเพียง 50 จำเลยเรียนซ้ำชั้นประถมปีที่ 1 อยู่เป็นเวลา 5 ปี จากการตรวจสอบครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม2532 ซึ่งเป็นเวลาก่อนหน้าจะเกิดเหตุ 2 เดือน ปรากฏว่าสติปัญญาของจำเลยยังช้า แพทย์หญิงปัญญายืนยันว่าจำเลยไม่รู้จักเหตุผลไม่มีการวางแผน ไม่มีความรับผิดชอบ จำเลยจะต้องได้รับการรักษาไปตลอดชีวิตไม่มีทางหายขาดได้ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายและนางสุรีย์พร เอี่ยมพงษ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นน้าของผู้เสียหายว่า จำเลยสติไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบเล่นกับคนวัยเดียวกันจำเลยมักจะมาเล่นดินและเล่นขายหม้อข้าวหม้อแกงกับผู้เสียหายและเด็กหญิงวิภา อายุ 7 ปี บุตรนางสุรีย์พร ในวันเสาร์และวันอาทิตย์อยู่เป็นประจำ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดไปในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องด้วยเหตุป่วยเป็นโรคปัญญาอ่อนมาตั้งแต่กำเนิด ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามาชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share