แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การมั่วสุมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ผู้มั่วสุมไม่จำต้องมีเจตนากระทำผิดในรายละเอียดอย่างเดียวกัน เพียงแต่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองก็เป็นความผิดแล้ว และผู้ที่มามั่วสุมก็ไม่จำต้องรู้จักหรือมีการนัดหมายวางแผนกันมาก่อน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมกันเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 อันเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นที่ผู้กระทำได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ หรือทำให้เกิดการวุ่นวายอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 เมื่อเจ้าพนักงานได้สั่งให้จำเลยกับพวกเลิกการมั่วสุมภายหลังที่มีการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 แล้ว แม้จำเลยทุกคนไม่เลิกการกระทำของจำเลยทุกคนก็คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เท่านั้นไม่เป็นความผิดตามมาตรา 216 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยทั้งสามสิบหกกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน คือ (ก) จำเลยทั้งสามสิบหกกับพวกมั่วสุมกันก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและร่วมกันใช้ก้อนอิฐ ก้อนหินและวัตถุของแข็งขว้างปาประทุษร้ายเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ตในขณะที่ทำการห้ามปรามมิให้มีการขว้างปาทำลายศาลาประชาคม จังหวัดภูเก็ตขว้างปาเผาทำลายโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินและโรงงานของบริษัทไทยแลนด์แทนทาลั่มอินดัสตรี จำกัด โดยจำเลยที่ 32 และที่ 33กับพวกเป็นหัวหน้าสั่งการและ (ข) เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ตสั่งให้จำเลยทั้งสามสิบหกกับพวกที่มั่วสุมกันดังกล่าวให้เลิกไปจำเลยทั้งสามสิบหกกับพวกก็ไม่ยอมเลิก(ค) จำเลยที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 13 ที่ 18 ที่ 19ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 25 ที่ 26 ที่ 27 ที่ 28ที่ 29 ที่ 30 ที่ 31 ที่ 32 ที่ 34 และที่ 36 กับพวกร่วมกันใช้ก้อนอิฐ ก้อนหินและวัตถุของแข็งทุบตีขว้างปาทำลายอาคารโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน เป็นเหตุให้กระจกประตูหน้าต่างและทรัพย์สินเครื่องใช้ซึ่งเป็นของบริษัทภูเก็ตเมอร์ลิน จำกัด แตกหักเสียหายรวม 30 รายการตามที่จำเลยที่ 33 กับพวกร่วมกันใช้ยุยงส่งเสริม (ง) จำเลยที่ 32 และที่ 35 กับพวกร่วมกันวางเพลิงเผาอาคารโรงงานของบริษัทไทยแลนด์แทนทาลั่มอินดัสตรี จำกัดซึ่งเป็นโรงเรือนที่เก็บและทำสินค้าเป็นเหตุให้ตัวอาคารโรงงานและทรัพย์สินเครื่องใช้ประจำโรงงานดังกล่าวกับทรัพย์สินของบริษัทชิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่งแอนคอนสตรัคชั่น จำกัดห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลบีกริมแอนโก และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในบริเวณโรงงานดังกล่าวถูกเผาทำลายตามที่จำเลยที่ 33 กับพวกร่วมกันใช้ยุยงส่งเสริม (จ) จำเลยที่ 7ที่ 8 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 24 ที่ 25 ที่ 26 ที่ 27และที่ 31 กับพวกร่วมกันวางเพลิงเผาโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินซึ่งเป็นโรงเรือนที่คนอยู่อาศัยกับเป็นสถานที่ประชุมเป็นเหตุให้ตัวอาคารและโครงสร้างตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งภายในโรงแรมและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งอยู่ภายในตัวอาคารดังกล่าวซึ่งเป็นของบริษัทภูเก็ตเมอร์ลิน จำกัด นางชูศรี ทองขาวองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และ บริษัททริปเปิ้ลเอ็กซ์แทรเวลจำกัด ถูกเผาทำลาย ตามที่จำเลยที่ 32 และที่ 33 กับพวกร่วมกันใช้ยุยงส่งเสริม (ฉ) จำเลยที่ 30 ที่ 31 และที่ 34 กับพวกร่วมกันวางเพลิงเผาทำลายรถยนต์โดยสารของบริษัทขอนแก่นยนต์ จำกัด(ช) จำเลยที่ 22 ที่ 29 ที่ 31 และ ที่ 34 กับพวก ร่วมกันวางเพลิงเผาทำลายรถยนต์ ของนายสมจิตต์ เอี่ยมสำราญ กับรถยนต์กระบะของกรมตำรวจ (ซ) จำเลยที่ 18 และที่ 28 กับพวกร่วมกันใช้ไม้และวัตถุของแข็งขว้างทุบตีทำลายรถยนต์โดยสารของบริษัทภูเก็ตเมอร์ลิน จำกัด และเป็นยวดยานที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะจนเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันบุบสลายและกระจกแตกใช้การไม่ได้ (ฌ) จำเลยที่ 29 และที่ 30 ร่วมกันใช้ก้อนอิฐ ก้อนหินและวัตถุของแข็งขว้างปาทำลายอาคารศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ตขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต อันเป็นทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จนเป็นเหตุให้กระจกประตูหน้าต่างของอาคารแตกใช้การไม่ได้ (ญ) จำเลยที่ 21 กับพวกร่วมกันใช้วัตถุของแข็งทุบตีทำลายแผ่นป้ายบอกชื่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตของกรมตำรวจ จนป้ายดังกล่าวบุบสลายใช้การไม่ได้ และ (ฎ)จำเลยที่ 32 และที่ 33 กับพวกร่วมกันใช้วัตถุของแข็งทุบตีทำลายสัญญาณไฟจราจรของเทศบาลเมืองภูเก็ต ที่บริเวณสี่แยกโรงเรียนสตรีภูเก็ต อันเป็นทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์จนแตกใช้การไม่ได้ทั้งชุด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 91, 215, 216, 217, 218(1)(2)(3),358, 359(1)(3), 360 กับริบของกลางเหล็กแป๊บน้ำยาวประมาณ1 เมตร 2 อัน แกลลอนใส่น้ำมันเบนซิน 1 ใบ ปี๊บใส่น้ำมันเบนซิน1 ใบ รถยนต์บรรทุก 6 ล้อไม่มีหมายเลขทะเบียน 1 คัน แผ่นสติกเกอร์1 แผ่น ซึ่งเป็นยานพาหนะและเครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำความผิด
ระหว่างพิจารณา บริษัทภูเก็ตเมอร์ลิน จำกัด ผู้เสียหายในความผิดข้อหาทำให้เสียทรัพย์แก่อาคารและทรัพย์สินโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน กับรถยนต์โดยสารตามฟ้องข้อ (ค) และ (ซ)ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 13ที่ 18 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 25 ที่ 26ที่ 27 ที่ 28 ที่ 29 ที่ 30 ที่ 31 ที่ 32 ที่ 33 ที่ 34 และที่ 36เฉพาะในความผิดข้อหาดังกล่าว กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 19 และที่ 23 ถอนคำให้การปฏิเสธและให้การใหม่รับสารภาพ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้แยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 19 และที่ 23เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 12ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 24 ที่ 25 ที่ 26 ที่ 27 ที่ 28 ที่ 31ที่ 32 และที่ 36 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง,216, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 10 ที่ 12และที่ 28 ขณะเกิดเหตุอายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คงจำคุกคนละ 6 เดือนส่วนจำเลยนอกนั้นให้จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 ที่ 15และที่ 22 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง,216, 218(1)(3), 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1)(3) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 12 ปีจำเลยที่ 29 และที่ 30 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา215 วรรคสอง, 216, 360, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 2 ปีจำเลยที่ 35 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง,216, 217, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี และจำเลยที่ 33มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 33 กระทำความผิดอย่างอื่นอีก เห็นสมควรลงโทษจำคุก1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6ที่ 11 ที่ 18 ที่ 20 ที่ 21 และที่ 34 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ 1 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 14ที่ 15 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 22 ที่ 27 ที่ 28 ที่ 29 ที่ 30 ที่ 31ที่ 32 ที่ 33 ที่ 35 และที่ 36 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 14 ที่ 16 และที่ 28เสียด้วยนอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ที่ 12 ที่ 13ที่ 14 ที่ 16 และที่ 28 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1ที่ 9 ที่ 15 ที่ 17 ที่ 27 ที่ 32 ที่ 33 ที่ 35 และที่ 36 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529 ได้มีประชาชนประมาณ 60,000-70,000คน มาที่ศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ตเพื่อรับฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับการก่อสร้างและการที่โรงงานแทนทาลั่ม ของบริษัทไทยแลนด์แทนทาลั่มอินดัสตรี จำกัด เปิดดำเนินงาน ซึ่งกำหนดจะมีการชี้แจงในเวลา 9.30 นาฬิกา โดยนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่เมื่อถึงเวลา 11 นาฬิกานายจิรายุ ก็ยังไม่มา ประชาชนที่รออยู่เกิดความไม่พอใจ หาว่าผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตหลอกลวง จึงก่อความวุ่นวายขึ้นโดยเผาหุ่น โลงศพ หุ่น โรงงาน และมีคนกลุ่มหนึ่งประมาณ 50-60 คนดื่มสุรารวมตัวกันที่หน้าศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ต โห่ร้องแสดงความไม่พอใจ ใช้วัตถุของแข็งขว้างปาอาคารศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ และทุบทำลายเก้าอี้ เจ้าพนักงานตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้าห้ามปรามก็ไม่หยุดจนศาลาประชาคมเสียหายมาก ต่อมาประชาชนประมาณ 4,000-5,000 คนได้ทยอยไปที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินเพราะคิดว่านายจิรายุพักอยู่ที่โรงแรมดังกล่าวและต้องการพบตัวนายจิรายุนายชาญ วงศ์สัตยานนท์ ผู้จัดการโรงแรมว่าไม่มีตัวนายจิรายุอยู่ในโรงแรม ประชาชนไม่เชื่อรออยู่จนกระทั่วเวลา 14 นาฬิกาจึงมีคนมาจุดไฟเผาหุ่นฟางที่หน้าโรงแรมดังกล่าว หลังจากนั้นก็มีคนขว้างปาวัตถุของแข็งไปที่โรงแรมและเข้าไปในโรงแรมจุดไฟเผาชั้นล่างของโรงแรม ขณะเดียวกันมีประชาชนอีกกลุ่มประมาณ 200ถึง 300 คน ไปที่โรงงานของบริษัทไทยแลนด์แทนทาลัมอินดัสตรี จำกัดจุดไฟเผาป้อมยามหน้าโรงงานและอาคารโรงงานเจ้าพนักงานตำรวจห้ามปรามให้เลิกทำลายทรัพย์สินทั้งที่ศาลาประชาคมโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน และที่โรงงานแทนทาลั่มประชาชนเหล่านั้นก็ไม่หยุดทำลายทรัพย์สินดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีประชาชนจุดไฟเผารถยนต์และทำลายสัญญาณไฟจราจรในถนนหลวงด้วย…
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 32 ว่า จำเลยที่ 32 ได้กระทำผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง, 216, 83 หรือไม่ข้อนี้โจทก์มีร้อยตำรวจตรีชลิต แก้วยะรัตน์ พยานโจทก์เบิกความว่า วันเกิดเหตุขณะที่พยานอยู่ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินพยานเห็นกลุ่มคนที่ใช้ก้อนอิฐขว้างกระจกโรงแรมเสียหายในกลุ่มคนนี้มีจำเลยที่ 32 อยู่ด้วย พยานได้ออกไปห้าม ต่อมาจำเลยที่ 32พูดชักชวนให้ไปเผาโรงงานแทนทาลั่มพูดเสร็จ กลุ่มคน 20-30คนได้ขึ้นรถบรรทุกอีซูซุ ออกไป พยานได้ไปที่โรงงานแทนทาลั่มด้วยพยานไปถึงปากทางเข้าโรงงานได้ประมาณครึ่งชั่วโมงเห็นรถบรรทุกอีซูซุ คันเดิมวิ่งออกมาจากโรงงาน มีจำเลยที่ 32 นั่งด้านซ้ายของคนขับต่อมาเห็นรถบรรทุกอีซูซุ วิ่งกลับเข้ามาอีกมีคนนั่งอยู่หลังรถบรรทุกถือแกลลอน ถือขวดขนาดขวดแม่โขง ในขวดมีน้ำสีเหลือง ๆ คนในรถพูดกันในทำนองชวนกันไปเผาโรงงานแทนทาลั่มจำเลยที่ 32 ยังคงนั่งอยู่ในรถที่เดิม และได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 32 ถามค้านด้วยว่า มีคนพูดที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินว่าให้ไปเผาโรงงาน แต่พยานจำไม่ได้ว่าเป็นใคร และโจทก์มีสิบตำรวจโทจงรักษ์ พวงแก้ว มาเบิกความสนับสนุนคำพยานโจทก์ดังกล่าวด้วย เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ชัดว่า จำเลยที่ 32พูดว่าให้ไปเผาโรงงาน แต่ก็ได้ความว่า จำเลยที่ 32 อยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้น ฟังได้ว่าจำเลยที่ 32 มั่วสุมเพื่อกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองดังโจทก์ฟ้องจริง ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 นั้น ได้ความจากคำเบิกความสิบตำรวจโทจงรักษ์พยานโจทก์ว่า ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4ได้ออกมาพูดให้กลุ่มคนหยุดการขว้างปาโรงแรมโดยใช้โทรโข่งซึ่งฟังได้ว่า เจ้าพนักงานได้มีการสั่งให้เลิกมั่วสุมในการก่อเหตุวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ภายหลังจำเลยที่ 32 ได้มีการมั่วสุมและกระทำการที่เป็นการก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแล้วจำเลยที่ 32 จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 216 ตามที่โจทก์ฟ้องที่จำเลยที่ 32 ฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า การรวมกลุ่มของคนหน้าโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน ไม่เป็นการมั่วสุมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เพราะการรวมกลุ่มของคนดังกล่าวไม่ได้มีเจตนากระทำผิดในรายละเอียดอย่างเดียวกัน เห็นว่า การมั่วสุมตามมาตรา 215นั้น ผู้มั่วสุมไม่จำต้องมีเจตนากระทำผิดในรายละเอียดอย่างเดียวกันเพียงแต่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองก็เป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าวแล้ว และผู้ที่มามั่วสุมก็ไม่จำต้องรู้จักหรือมีการนัดหมายวางแผนกันมาก่อน เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 32 อยู่ในกลุ่มคนที่ช่วยกันใช้วัตถุของแข็งขว้างปาโรงแรมจึงเป็นการมั่วสุมตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้วที่จำเลยที่ 32 ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าเมื่อได้พิเคราะห์ถึงอายุของจำเลยที่ 32 ทั้งอาชีพและสติปัญญา สิ่งแวดล้อม สภาพความผิดที่เกิดขึ้น แม้จำเลยที่ 32 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนแต่การกระทำของจำเลยที่ 32 เป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เกรงกลัวกฎหมายของบ้านเมืองจึงไม่สมควรรอการลงโทษให้ ฎีกาของจำเลยที่ 32 ฟังขึ้นบางส่วน…
สำหรับจำเลยที่ 35 คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 35ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง,216, 217, 83 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 35 ฎีกาว่า คำพยานโจทก์มีข้อพิรุธสงสัย ขอให้ยกฟ้องโจทก์นั้น คดีได้ความจากนายชอบ แป้นสุข ซึ่งเป็นหัวหน้ายามโรงงานแทนทาลั่ม และร้อยตำรวจโทโชติ ชัยชมภู พยานโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 35 ได้พูดกับนายชอบ ให้นายชอบไปหากินที่อื่นเพราะโรงงานแทนทาลั่มทำให้เกิดอันตรายและว่าจะเผาโรงงานในที่สุด ต่อมาเห็นจำเลยที่ 35 กับพวกใช้ไม้ตีป้ายชื่อโรงงานและขว้างก้อนอิฐ ก้อนหิน ขว้างป้อมยาม จำเลยที่ 35 เป็นผู้สั่งกลุ่มวัยรุ่นให้เทน้ำมันที่ป้อมยามหน้าโรงงานแล้วจุดไฟเผาป้อมยามดังกล่าว ส่วนร้อยตำรวจโทโชติเบิกความสนับสนุนว่า พบเห็นและจำจำเลยที่ 35 ได้ จำเลยที่ 35 มาพูดตรงหน้าประตูโรงงานขอให้นายชอบเปิดประตูโรงงาน ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เที่ยง แล้วจำเลยที่ 35 กับพวกก็ร่วมกันเผาป้อมยามหน้าโรงงาน หลังวันเกิดเหตุร้อยตำรวจโทโชติพบจำเลยที่ 35 จำจำเลยที่ 35 ได้จึงควบคุมตัวจำเลยที่ 35 ไว้ ในชั้นสอบสวนนายชอบชี้ตัวจำเลยที่ 35ได้ถูกต้อง ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.30 และบันทึกการชี้ตัวตามเอกสารหมาย จ.31 พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงข้อนำสืบของจำเลยที่ 35 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 35 ร่วมกับพวกวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าในวันเกิดเหตุมีกลุ่มคนประมาณ 50-60 คน ก่อความวุ่นวายใช้ก้อนอิฐขว้างปาศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ต และโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินและมีคนอีก 200-300 คน ขว้างปา ทุบ ทำลายเผาโรงงานของบริษัทไทยแลนด์แทนทาลั่มอินดัสตรี จำกัดในเหตุการณ์คราวเดียวกัน จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 35 ร่วมกับพวกมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญ เพื่อก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก จำเลยที่ 35 จึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง, 83 แต่เนื่องจากเจ้าพนักงานได้สั่งให้เลิกการมั่วสุมภายหลังที่จำเลยที่ 35ได้มีการมั่วสุมและกระทำการที่เป็นการก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแล้ว จำเลยที่ 35 จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 216 ตามที่โจทก์ขอฎีกาของจำเลยที่ 35 ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 9 ที่ 17 ที่ 27 และที่ 36 ฎีกาข้อกฎหมายว่า เมื่อมีการมั่วสุมและกระทำการที่เป็นการก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแล้ว เจ้าพนักงานจึงมาสั่งให้เลิก แต่ผู้มั่วสุมไม่ยอมเลิก จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 นั้น เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมกันเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 อันเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นที่ผู้กระทำได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญหรือทำให้เกิดความวุ่นวายอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนฟังเป็นยุติว่า เจ้าพนักงานได้สั่งให้จำเลยดังกล่าวกับพวกเลิกการมั่วสุมภายหลังที่มีการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 แล้ว ดังนั้นแม้จำเลยทุกคนไม่เลิกการกระทำของจำเลยทุกคนก็คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสอง, 83 เท่านั้น ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 216ตามที่โจทก์ฟ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกคนดังกล่าวฟังขึ้น และโดยที่ปัญหาข้อนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ 15 ที่ 22 ที่ 24 ที่ 25 ที่ 26 ที่ 29ที่ 30 และที่ 31 ซึ่งมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 9 ที่ 15 ที่ 17ที่ 22 ที่ 24 ที่ 25 ที่ 26 ที่ 27 ที่ 29 ที่ 30 ที่ 31 ที่ 32ที่ 35 และที่ 36 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3