คำสั่งคำร้องที่ 1273/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่ารับอุทธรณ์เฉพาะข้อ 4 นอกนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์จำเลยทั้งหกสำนวนเห็นว่า อุทธรณ์ข้อ 2 เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยไม่ครบ 240 วัน แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย นั้นเป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนอุทธรณ์ข้อ 3 เรื่องการบอกกล่าวล่วงหน้า นั้น ศาลอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 กำหนดค่าจ้างให้ 20 วัน จำเลยอุทธรณ์ว่าให้ 20 วันไม่ได้ เพราะจำเลยได้ชำระค่าจ้างครบ 15 วันแล้ว ถ้าจะบอกกล่าวล่วงหน้าก็ต้องถือ 15 วันในรอบการจ้าง จำเลยจ่ายไปแล้วเกินไป 5 วันจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากี่วันและศาลจะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ได้หรือไม่โปรดมีคำสั่งรับอุทธรณ์ข้อ 2 และข้อ 3 ของจำเลย
หมายเหตุ โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 และโจทก์ที่ 1 ที่ 4ต่างได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 43,43 แผ่นที่ 2) การส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์ที่ 5 ไม่สามารถกระทำได้ ศาลจึงประกาศที่หน้าศาลให้โจทก์ที่ 5 ทราบ (อันดับ 50)
คดีหกสำนวนนี้ จำเลยเป็นบุคคลเดียวกัน ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์แต่ละสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2โจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 4 โจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 7 ตามลำดับศาลแรงงานกลางเคยพิจารณาคดีหกสำนวนนี้รวมกับคดีของศาลแรงงานกลางหมายเลขแดงที่ 1224/2530 โดยเรียกโจทก์ในสำนวนดังกล่าวว่า โจทก์ที่ 6 แต่ต่อมาศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 6 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 1,800 บาท,2,040 บาท,2,040 บาท,1,920 บาท,2,040 บาท,1,800 บาท และค่าชดเชยจำนวน 8,100 บาท,3,060 บาท,9,180 บาท,8,640 บาท,3,060 บาท และ 2,700 บาท แก่โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 7 ตามลำดับ
จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว(อันดับ 35)
จำเลยทั้งหกสำนวนจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 40)
ไม่ปรากฏใบแต่งทนายของจำเลยสำนวนที่ 2 ถึงที่ 6 ในสำนวนที่ส่งมาศาลฎีกา

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2 เป็นใจความว่า โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2529 ถึงวันเลิกจ้างในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2530 ยังไม่ครบ 240 วันจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น ในปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ไว้ แต่ศาลแรงงานกลางก็หาได้ตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้โดยเฉพาะ ทั้งจำเลยมิได้โต้แย้งและศาลแรงงานกลางก็มิได้วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว อุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติแล้วเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอ้างขึ้นมาเท่านั้น จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 3 เป็นใจความว่า หลังจากบริษัทยู.เค.สตีล จำกัด บอกเลิกสัญญากับจำเลยในวันที่ 26 กุมภาพันธ์2530 จำเลยก็ได้จ่ายค่าแรงให้แก่โจทก์ทั้งหมดครบถ้วนแล้วในวันที่28 กุมภาพันธ์ 2530 จำเลยจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 20 มีนาคม 2530 เท่าค่าจ้าง20 วันอีก เพราะเป็นการจ่ายซ้ำซ้อน ในปัญหาที่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าสำหรับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 20 มีนาคม 2530 หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายจึงให้รับเฉพาะอุทธรณ์ข้อ 3 ไว้ดำเนินการต่อไป

Share