แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1)โดยอ้างว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองสมคบกันแสดงเจตนาลวงทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องเพื่อมิให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 กรณีเช่นนี้มีความจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิซึ่งผู้ร้องมีอยู่ เพื่อให้ได้ชำระหนี้ ไม่ให้จำเลยทั้งสองโอนทรัพย์ไปเสียอันจะทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย คำร้องของผู้ร้องมีเหตุผลต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57(1) โดยไม่ต้องไปดำเนินการตามขั้นตอนอื่น.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) โดยอ้างว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองสมคบกันแสดงเจตนาลวงทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องเพื่อมิให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ ขอให้พิพากษาว่าสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องเป็นโมฆะและยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ยังไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดี เนื่องจากเหตุที่ผู้ร้องอ้างนั้น ผู้ร้องสามารถดำเนินการในขั้นตอนอื่นได้อีกถึงแม่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีก็ตาม ประกอบกับผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อได้เริ่มสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จึงไม่รับคำร้อง ครั้นพิจารณาแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องสอด
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) เป็นบทบัญญัติให้มีการร้องสอดเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่สาม คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงินที่กู้ยืมไปจากโจทก์ตามสัญญาผู้ร้องร้องสอดว่า ในขณะที่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ของผู้ร้องได้อาศัยโอกาสในตำแหน่งหน้าที่สมคบกับพวกทุจริตเบียดบังเอาเงินของผู้ร้องไปเป็นเงิน 38,891,700 บาทผู้ร้องได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นจำเลยที่ศาลแรงงานกลาง(จังหวัดยโสธร) ข้อหาความผิดฐานละเมิด ผิดสัญญา ตามคดีหมายเลขดำที่ 4600/2532 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง(จังหวัดยโสธร) เพื่อมิให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันได้สมคบกับโจทก์ในคดีนี้กระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือจำเลยทั้งสองได้แกล้งเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ตามฟ้อง ซึ่งเป็นความเท็จและเป็นการโกงเจ้าหนี้ อันเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเห็นว่า มีความจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ คือเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ ไม่ให้จำเลยทั้งสองโอนทรัพย์ไปเสียอันจะทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย คำร้องของผู้ร้องมีเหตุผลซึ่งถ้าเป็นจริงผู้ร้องก็ควรได้รับความคุ้มครองจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57 (1) แล้ว โดยไม่ต้องให้ผู้ร้องไปดำเนินการตามขั้นตอนอื่น เพราะมาตรา 57 (1) หาได้กำหนดเช่นนั้นไม่ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ผู้ร้องร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้เพื่อรับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองเสียโดยให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องสอดของผู้ร้องไว้และดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งหรือพิพากษาใหม่ตามรูปความ.