คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6484/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จะนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาคดีส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาต้องวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งตลอดจนผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความในคดีอาญา เมื่อปรากฏว่าการพิพากษาคดีอาญาในคดีก่อน ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลชั้นที่สุดวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นเรื่องซื้อขายกันตามปกติทางการค้า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายไปในราคาต่ำกว่าทุนอันจะเป็นตัวชี้เจตนาได้ว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อันเป็นการวินิจฉัยถึงการทำงานของจำเลยที่ 1 รวมถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ว่ามิได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งหก เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นคดีแพ่งคดีนี้อีกว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีก อันมีข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยทั้งหกว่าเป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นกรณีของการกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งแล้วถึงการกระทำของจำเลยทั้งหก คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ในราคาต่ำไปทำให้โจทก์ขาดรายได้เท่าที่ควรจะได้เป็นเงิน 6,000,000 บาท นั้น เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงถึงการตรวจสอบห้างจำเลยที่ 5 และบริษัทจำเลยที่ 6 ที่โจทก์พบว่าเมื่อนำใบซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 และที่ 6 มาเปรียบเทียบกันแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ในราคาต่ำสุดเท่าที่จะต่ำได้ในการซื้อขายแต่ละคราว ทำให้โจทก์ขาดรายได้เป็นเงินรวม 6,000,000 บาท เท่านั้น มิใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาที่ฟังยุติแล้วว่า ที่จำเลยที่ 1 ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นเรื่องซื้อขายกันตามปกติทางการค้า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายไปในราคาต่ำกว่าทุนอันจะเป็นตัวชี้เจตนาได้ว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด กรณีจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหกมิได้กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ไม่เป็นการกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 29,161,095.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 28,624,388.87 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้าเคมีภัณฑ์เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้า เมื่อปี 2526 โจทก์รับจำเลยที่ 1 เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย จำเลยที่ 3 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 และเป็นพนักงานของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 5 และเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 5 ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2543 จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ติดต่อรับคำสั่งซื้อ กำหนดราคาและซื้อขายสินค้าเคมีภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าของโจทก์ ขายสินค้าของโจทก์ให้จำเลยที่ 5 รวม 582 ครั้ง เป็นเงิน 21,430,083.84 บาท และขายสินค้าให้แก่จำเลยที่ 6 รวม 444 ครั้ง เป็นเงิน 22,026,823.57 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 43,456,907.41 บาท โดยโจทก์ได้รับเงินค่าสินค้าจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 ครบถ้วนแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2548 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นคดีอาญาความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งหกกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า เนื้อหาตามคำฟ้องในคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกในคดีอาญาข้อหาร่วมกันฉ้อโกง คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ซึ่งศาลอุทธรณ์ในคดีอาญาดังกล่าวรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า “… แต่ภายหลังโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 จึงได้ตรวจสอบห้างจำเลยที่ 5 และบริษัทจำเลยที่ 6 แล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกัน เมื่อนำใบซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 และที่ 6 มาเปรียบเทียบกันแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งขายสินค้าแก่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ในราคาต่ำสุดเท่าที่จะต่ำได้ในการซื้อขายแต่ละคราว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินรวม 6,000,000 บาท… เพียงแต่โจทก์ตรวจสอบกับการซื้อขายสินค้ากับลูกค้ารายอื่นของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 นั้นต่ำเกินไป ทำให้ขาดรายได้เท่าที่ควรจะได้เป็นเงินรวม 6,000,000 บาท” พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทุจริตต่อโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ศาลอุทธรณ์หาได้ยึดถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในข้อหาฉ้อโกง ในการพิพากษาคดีนี้แต่อย่างใดไม่ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 และไม่อาจรับฟังได้นั้น เห็นว่า ในการที่จะนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาคดีส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาต้องวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งตลอดจนผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความในคดีอาญา เมื่อปรากฏว่าการพิพากษาคดีอาญาในคดีก่อน ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลชั้นที่สุดวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นเรื่องซื้อขายกันตามปกติทางการค้า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายไปในราคาต่ำกว่าทุนอันจะเป็นตัวชี้เจตนาได้ว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อันเป็นการวินิจฉัยถึงการทำงานของจำเลยที่ 1 รวมถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ว่ามิได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งหก เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นคดีแพ่งคดีนี้อีกว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีก อันมีข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยทั้งหกว่าเป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นกรณีของการกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งแล้วถึงการกระทำของจำเลยทั้งหก คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามที่โจทก์ฎีกาส่วนข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ในราคาต่ำไปทำให้โจทก์ขาดรายได้เท่าที่ควรจะได้เป็นเงิน 6,000,000 บาท นั้น เห็นว่าเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงถึงการตรวจสอบห้างจำเลยที่ 5 และบริษัทจำเลยที่ 6 ที่โจทก์พบว่าเมื่อนำใบซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 และที่ 6 มาเปรียบเทียบกันแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ในราคาต่ำสุดเท่าที่จะต่ำได้ในการซื้อขายแต่ละคราว ทำให้โจทก์ขาดรายได้เป็นเงินรวม 6,000,000 บาท เท่านั้น มิใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาที่ฟังยุติแล้วว่า ที่จำเลยที่ 1 ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นเรื่องซื้อขายกันตามปกติทางการค้า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายไปในราคาต่ำกว่าทุนอันจะเป็นตัวชี้เจตนาได้ว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด กรณีจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหกมิได้กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ไม่เป็นการกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยผล
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนจำเลยทั้งหก

Share