คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7079/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วัตถุประสงค์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 ที่ให้โจทก์หรือจำเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียง อันกล่าวไว้ในคำฟ้องหรือคำให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกได้นั้น ก็เพื่อให้โอกาสแก่โจทก์หรือจำเลยแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดที่มีอยู่ในคำฟ้องหรือคำให้การเพื่อให้มีความสมบูรณ์ คำฟ้องของโจทก์คดีนี้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว เป็นคำฟ้องที่บริบูรณ์ คำฟ้องของโจทก์เมื่ออ่านแล้วก็สามารถเข้าใจในคำฟ้องได้ดีอยู่แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องที่เป็นเพียงรายละเอียดได้หรือไม่ ก็ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงหรือในที่สุดผลของคดีจะเปลี่ยนแปลงไปการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องและให้ยกคำร้องเสียนั้นชอบแล้ว
จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ครึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ และโจทก์อยู่ในฐานะเป็นตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ การที่จำเลยที่ 1 ทำที่ดินไปขายฝากแก่สามีจำเลยที่ 2 ก็ต้องถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำการออกหน้าเป็นตัวการในการขายฝากโจทก์จึงหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของสามีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันเขามีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทน และสามีจำเลยที่ 2 ขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 806 การขายฝากที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่สามีจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ด้วย
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินพิพาท เป็นการฟ้องร้องให้ได้ทรัพย์พิพาทคืนมาเป็นของโจทก์เป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงงดสืบพยานแล้วพิพากษาไปโดยข้อกฎหมาย เป็นการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 การที่โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาโดยขอให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป จึงเป็นการอุทธรณ์ตามมาตรา 227 ซึ่งตาราง 1 ข้อ 2 ข.ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดให้เสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จำนวน 200,000 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์ และแม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ และจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้อง ก็เห็นได้ว่าเป็นคำขอให้จำเลยที่ 2 ชนะคดีในประเด็นอำนาจฟ้องของโจทก์ดังข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นอันเป็นข้อกฎหมายนั่นเอง จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2527 แต่ได้อยู่กินฉันสามีภรรยากันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2509 จำเลยที่ 2เป็นภรรยาและผู้จัดการมรดกของนายปุณยศักดิ์ แต้ปิติกุล ผู้ตาย บิดามารดาจำเลยที่ 1ยกที่ดินให้จำเลยที่ 1 จำนวน 3 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 2865, 2970 และ 2863 ในพ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2520 โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2864 และ2853 แต่ให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2537จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 2863, 2864 และ 2853 รวม 3 แปลง ไปขายฝากนายปุณยศักดิ์ สามีจำเลยที่ 2 ต่อมากลาง พ.ศ. 2538 โจทก์จึงทราบเรื่องขายฝากดังกล่าวขอให้ศาลเพิกถอนการขายฝากที่ดินทำนิติกรรมจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์นั้นไปทั้งหมดได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลเพิกถอนการขายฝากที่ดินดังกล่าวและใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2864 และ 2853 ครึ่งหนึ่ง โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียม ให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยให้โจทก์ได้ที่ดินด้านทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 2853 และให้โจทก์ได้ที่ดินด้านทิศตะวันออกของโฉนดเลขที่ 2864คิดเป็นเนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยชำระค่าที่ดินแก่โจทก์เป็นเงิน 15,500,000 บาท

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ก่อนชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 ขอแก้ไขคำฟ้อง

ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วนัดฟังคำพิพากษา สำหรับคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ลงวันที่ 10กรกฎาคม 2539 นั้น เห็นว่า เนื่องจากคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และให้ยกคำสั่งที่ให้ยกคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า วัตถุประสงค์ที่ให้โจทก์หรือจำเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ข้ออ้าง หรือข้อเถียง อันกล่าวไว้ในคำฟ้องหรือคำให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 นั้น ก็เพื่อให้โอกาสแก่โจทก์หรือจำเลยแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดที่มีอยู่ในคำฟ้องหรือคำให้การเพื่อให้มีความสมบูรณ์ตามคำฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว เป็นคำฟ้องที่บริบูรณ์คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 เป็นเพียงรายละเอียดขยายความในคำฟ้องซึ่งชัดแจ้ง เมื่ออ่านแล้วก็สามารถเข้าใจในคำฟ้องได้ดีอยู่แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้หรือไม่ ก็ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงหรือในที่สุดผลของคดีจะเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องและให้ยกคำร้องเสียนั้นชอบแล้ว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้และมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2853 และ 2864เป็นการมีชื่อแทนในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ครึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 ก็มีฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์และโจทก์อยู่ในฐานะเป็นตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดนำที่ดินไปขายฝากแก่สามีจำเลยที่ 2 ก็ต้องถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำการออกหน้าเป็นตัวการในการขายฝาก โจทก์จึงหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของสามีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันเขามีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทน และสามีจำเลยที่ 2 ขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806การขายฝากที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่สามีจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ด้วย

อนึ่ง ที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ฎีกาจำเลยที่ 2 เป็นคดีมีทุนทรัพย์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินพิพาทเป็นการฟ้องร้องให้ได้ทรัพย์พิพาทคืนมาเป็นของโจทก์เป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงงดสืบพยานแล้วพิพากษาคดีไปโดยข้อกฎหมายนั้นเป็นการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาโดยขอให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป จึงเป็นการอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 ซึ่งตาราง 1 ข้อ 2 ข.ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดให้เสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จำนวน 200,000 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์ และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ และจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้อง ก็เห็นได้ว่าเป็นคำขอให้จำเลยที่ 2 ชนะคดีในประเด็นอำนาจฟ้องของโจทก์ดังข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นอันเป็นข้อกฎหมายนั่นเอง จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ ที่จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา 200 บาท นั้นชอบแล้ว

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์

Share