แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ระเบียบเงินบำเหน็จขัดต่อประกาศกระทรวง-มหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จึงไม่มีผลใช้บังคับนั้น โจทก์มิได้กล่าวเรื่องนี้มาในคำฟ้อง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานแม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็ไม่เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย
ระเบียบเงินบำเหน็จของจำเลยได้ให้คำนิยาม เงินบำเหน็จว่าเงินตอบแทนที่จำเลยจ่ายให้พนักงานเมื่อออกจากงาน เงินบำเหน็จจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานนอกเหนือไปจากค่าจ้างตามที่กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานบัญญัติไว้ และตามระเบียบดังกล่าวก็ได้กำหนดวิธีคำนวณเงินบำเหน็จว่า ให้เอาเงินเดือนเดือนสุดท้ายตั้ง แล้วคูณด้วยจำนวนปีและเศษของปีตามปฏิทินของเวลาทำงาน ทั้งได้ให้คำจำกัดความคำว่า เงินเดือน ไว้ว่า หมายถึง เงินเดือนหรือค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานแต่ละคน เป็นรายเดือนหรือรายงวด จะเห็นว่า ถ้อยคำคำว่า เงินเดือน ในระเบียบเงินบำเหน็จดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดให้หมายถึงเฉพาะเงินเดือนที่แท้จริงเท่านั้น หาได้มีความหมายให้นำประโยชน์อื่น ๆ ที่ลูกจ้างได้รับเป็นการตอบแทนการทำงานเข้ามารวมเป็นเงินเดือนด้วยไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ เงินเดือนตามระเบียบเงินบำเหน็จดังกล่าวจึงไม่รวมถึงเงินค่าครองชีพ จะนำเงินค่าครองชีพมารวมเป็นเงินเดือนเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จหาได้ไม่
อุทธรณ์ของโจทก์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานว่าไม่ถูกต้องแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย