คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8080/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มูลหนี้ที่เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา91ต้องเป็นหนี้ที่มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เมื่อมูลแห่งหนี้ตามเช็คพิพาทเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดแล้วจึงหาอยู่ในบังคับตามมาตรา91ไม่แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา24โดยการที่จำเลยทั้งสองซึ่งศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วกระทำการออกเช็คพิพาทชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมอันเป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ร่วมตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองโดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งศาลหรือความเห็นชอบของศาลเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลายดังนั้นมูลหนี้ตามเช็คพิพาทจึงเป็นโมฆะโจทก์ร่วมหามีสิทธินำเช็คพิพาทไปยื่นเพื่อให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา28จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์คดีความผิดต่อส่วนตัวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา124โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา121และโจทก์ร่วมก็ไม่มีอำนาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา30ศาลชอบที่จะยกฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมเสีย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์และกระเบื้องซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายให้แก่บริษัทเจษฎ์พัฒนา จำกัด ผู้เสียหาย แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ถือเป็นการออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลย ทั้ง สอง ให้การ ปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทเจษฎ์พัฒนา จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นฟังคำแถลงของจำเลยทั้งสองและโจทก์ร่วมแล้วเห็นว่าการที่โจทก์ร่วมไม่ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายไว้หนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ย่อมสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์เป็นอันระงับไปจึงให้จำหน่ายคดี
โจทก์ และ โจทก์ร่วม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ร่วม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยทั้งสองถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตนต่อไป อำนาจดังกล่าวตกได้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์ร่วมในฐานะเจ้าหนี้ตามเช็คพิพาทต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นและต้องยื่นในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย มิฉะนั้นโจทก์ร่วมก็หมดสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้ คดีนี้โจทก์ร่วมได้แถลงรับตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2536 ว่า ไม่ได้ขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องล้มละลายจริง โจทก์ร่วมจึงหมดสิทธิจะได้รับชำระหนี้ตามเช็คพิพาท สิทธิเรียกร้องเงินตามเช็คพิพาทก็เป็นอันระงับลงด้วยเช่นกัน และถือว่าหนี้ตามเช็คพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลจะพิพากษาคดีนี้นั้น โจทก์ร่วมไม่เห็นพ้องด้วย เพราะหนี้ที่จะต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายนั้นจะต้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่กรณีนี้จำเลยทั้งสองถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2535 จำเลยทั้งสองมอบเช็คพิพาทแก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้เมื่อวันที่ 12 กันยายน2535 โดยเช็คพิพาทดังกล่าวลงวันที่ 6, 20, 22 มกราคม 2536 ตามลำดับจึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจำเลยทั้งสองถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว หนี้ตามเช็คจึงไม่ระงับ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามูลแห่งหนี้ตามเช็คพิพาทเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้ในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย มูลหนี้ตามเช็คพิพาทจึงระงับไปแล้ว ก็โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 ที่บัญญัติว่า”เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย จะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด”แต่ยังมีมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้ด้วยว่า “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์” ดังนั้นมูลหนี้ที่เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 จึงต้องเป็นหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฎว่ามูลแห่งหนี้ตามเช็คพิพาทเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดแล้ว จึงหาอยู่ในบทบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 91 ไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายจึงหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามเช็คพิพาท สิทธิเรียกร้องตามเช็คพิพาทเป็นอันระงับลงด้วยเช่นกัน และถือว่าหนี้ตามเช็คพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลจะพิพากษาคดีนี้ ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 24 ซึ่งบัญญัติว่า”เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ นี้” โดยการที่จำเลยทั้งสองซึ่งศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วกระทำการออกเช็คพิพาทชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมอันเป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ร่วมตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็ค ซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลายดังนั้น มูลแห่งหนี้ตามเช็คพิพาทจึงเป็นโมฆะ โจทก์ร่วมหามีสิทธินำเช็คพิพาทไปยื่นเพื่อให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์คดีความผิดต่อส่วนตัวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 124 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง และโจทก์ร่วมก็ไม่มีอำนาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 30 ศาลชอบที่จะยกฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมเสีย ปัญหาเรื่องอำนาจร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมตลอดจนอำนาจฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมนี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
พิพากษากลับ เป็น ให้ยก ฟ้อง

Share