แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การจับและการสอบสวนเป็นคนละขั้นตอนกัน แม้การจับจำเลยจะไม่ชอบเพราะไม่มีหมายจับและเป็นกรณีที่ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะจับโดยไม่มีหมายจับได้ ก็ไม่ถือว่าไม่ได้มีการสอบสวนหรือเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบอันจะต้องห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 83, 91
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 317 วรรคสาม,83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามมาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 อายุ 15 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 ประกอบด้วยมาตรา 53 แล้วฐานพรากเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ให้ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี6 เดือน ฐานกระทำชำเรา ให้ลงโทษจำคุกคนละ 25 ปี รวมให้ลงโทษจำคุกคนละ 27 ปี 6 เดือน คำรับของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุกคนละ 18 ปี 4 เดือน
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการจับจำเลยทั้งสองไม่ชอบเพราะไม่มีหมายจับและเป็นกรณีที่ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะจับโดยไม่มีหมายจับได้ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า การจับและการสอบสวนเป็นคนละขั้นตอนกัน เพราะการจับเป็นวิธีการที่จะได้ตัวผู้กระทำผิด ส่วนการสอบสวนเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ไม่ปรากฏว่าคดีนี้ไม่ได้มีการสอบสวนหรือการสอบสวนไม่ชอบอย่างไร ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้”
พิพากษายืน