คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในวันนำเข้าสินค้าโจทก์ชำระภาษีอากรเฉพาะตามจำนวนที่ได้สำแดงไว้ส่วนจำนวนที่จำเลยเรียกให้โจทก์ชำระเพิ่มนอกเหนือจากที่โจทก์ได้สำแดงไว้โจทก์ยังมิได้ชำระแต่ได้วางเงินสดและหนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันค่าอากรที่อาจต้องชำระเพิ่มเพื่อนำสินค้าออกจากอารักขาของจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469มาตรา112ถือไม่ได้ว่าโจทก์ชำระค่าภาษีอากรเพิ่มในวันนำเข้าแล้วเมื่อต่อมาจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีอากรเพิ่มและโจทก์ได้นำเงินไปชำระและรับหนังสือค้ำประกันคืนก็เป็นการดำเนินการตามที่มาตรา112ทวิวรรคหนึ่งบัญญัติไว้จึงมิใช่เรื่องที่โจทก์ชำระค่าภาษีอากรจนครบถ้วนหรือวางเงินประกันก่อนนำของออกไปจากอารักขาตามมาตรา40ซึ่งจะถือว่าโจทก์ได้เสียอากรเกินกว่าจำนวนที่พึงต้องชำระเพราะเหตุอันเกี่ยวกับราคาของ ซึ่งจะอยู่ในบังคับสิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่ได้เสียไว้เกินในกำหนด2ปีนับแต่วันที่นำสินค้าเข้าตามมาตรา10วรรคห้าแต่เป็นเรื่องที่โจทก์ชำระค่าอากรเพิ่มเกินกว่าจำนวนที่พึงต้องชำระตามมาตรา112ทวิซึ่งไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะต้องใช้กำหนดอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าที่พิพาทเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ส่วนราคาที่จำเลยกำหนดและนำมาประเมินแก่สินค้าโจทก์นั้น มิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด กับให้พิพากษาว่าการประเมินของจำเลยไม่ชอบและให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ 1,088,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระคืนแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรทางรถไฟตั้งแต่ปี 2528 ถึงปี 2529 และวันที่ 10 มีนาคม 2531 แต่โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2533 คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยเฉพาะอากรขาเข้า ให้จำเลยคืนเงินอากรขาเข้าที่ประเมินเพิ่มในแต่ละใบขนพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบและตามที่ศาลภาษีกลางฟังมาโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์และกรรมการตามเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 1โดยกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์กระทำการผูกพันโจทก์ได้ นางมั่นจิต นิมมานนิตย์และนายจอห์นนี้ จง ไงยาง เป็นกรรมการโจทก์ด้วย เมื่อระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน 2528 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2533 โจทก์ซื้อสินค้าใยสังเคราะห์ที่ไม่ได้หวีหรือสางตามวัตถุพยานซึ่งติดอยู่กับเอกสารหมาย จ.5 อันดับที่ 27 ทำด้วยโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ปั่นเป็นด้ายผลิตสินค้าสำเร็จรูปจำหน่ายและส่งออกต่างประเทศ จากประเทศมาเลเซียเข้ามาในราชอาณาจักร 30 เที่ยวเมื่อสินค้ามาถึงเขตท่าศุลกากรกรุงเทพ โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 068-31453, 059-31473, 059-32324,069-31308, 069-31971, 021-32548, 031-33687, 031-33686,041-33617, 212-32019, 022-0043, 022-0332, 032-0088,032-0346, 042-0061, 042-0128, 042-0277, 102-0448, 102-0569,112-0230, 112-0229, 112-0304, 112-0504, 122-0088, 122-0270,122-0271, 122-0574, 122-0631, 122-0072 และ 013-0156 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1, 15, 29, 47, 64, 80, 93, 102, 114,124, 131, 159, 172, 184, 196, 207, 219, 232, 243, 252,262, 272, 283, 294, 305, 315, 324, 336, 346 และ 356ซึ่ง นำเข้าเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2528 วันที่ 16 พฤษภาคม 2529วันที่ 28 พฤษภาคม 2529 วันที่ 13 มิถุนายน 2529 วันที่ 27 มิถุนายน2529 วันที่ 10 มีนาคม 2531 วันที่ 1 เมษายน 2531 วันที่ 12 เมษายน2531 วันที่ 24 เมษายน 2531 วันที่ 14 ธันวาคม 2531วันที่ 30 มกราคม 2532 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2532 วันที่ 1 มีนาคม2532 วันที่ 16 มีนาคม 2532 วันที่ 2 เมษายน 2532 วันที่ 6เมษายน 2532 วันที่ 14 เมษายน 2532 วันที่ 19 ตุลาคม 2532วันที่ 26 ตุลาคม 2532 วันที่ 3 พฤศจิกายน 2532 วันที่ 11 พฤศจิกายน2532 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2532 วันที่ 1 ธันวาคม 2532 วันที่ 11ธันวาคม 2532 วันที่ 11 ธันวาคม 2532 วันที่ 21 ธันวาคม 2532วันที่ 25 ธันวาคม 2532 วันที่ 31 ธันวาคม 2532 และวันที่ 2 มกราคม2533 ตามลำดับ รวม 30 ฉบับ ซึ่งโจทก์กรอกรายการสินค้า ชนิด ปริมาณน้ำหนัก และราคาสินค้าที่โจทก์ซื้อมาตามใบกำกับสินค้าอันเป็นราคาตามสัญญาซื้อขายและเงินค่าภาษีอากรที่คำนวณได้ อันต้องชำระตามกฎหมายในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าในแต่ละฉบับทุกฉบับให้เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจสอบและขอชำระค่าภาษีอากร เจ้าพนักงานของจำเลยได้ตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าแต่ละฉบับแล้ว ไม่ยอมรับราคาสินค้าอ้างว่าราคาสินค้าของโจทก์ต่ำไปมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โจทก์จึงต้องวางประกันเพิ่มไว้ให้เจ้าพนักงานของจำเลยอีกต่างหาก นอกเหนือจากเงินค่าภาษีอากรที่ต้องเสียตามจำนวนที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าแต่ละฉบับเพื่อให้คุ้มค่าภาษีอากรที่เจ้าพนักงานของจำเลยจะประเมินเพิ่มโดยวางเงินสดและมีธนาคารมาค้ำประกัน จึงนำสินค้าออกจากอารักขาของจำเลยได้ ต่อมาเจ้าพนักงานของจำเลยได้ประเมินราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นจากราคาที่โจทก์ซื้อมาตามสัญญาซื้อขายและแจ้งให้โจทก์ไปชำระเงินค่าภาษีอากรเพิ่มจากที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวเป็นเงินเฉพาะค่าอากรขาเข้ารวม 1,088,700 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 1 ถึง 27 ซึ่งโจทก์ได้นำเงินสดไปชำระและรับหลักประกันคืนแล้ว โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินราคาเพิ่มและได้อุทธรณ์การประเมินต่อกองวิเคราะห์ราคาของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเจ้าพนักงานพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยมีคำสั่งยืนตามราคาที่เจ้าพนักงานประเมิน เงินอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 068-31453,069-31308 และ 069-31971 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1, 47 และ 64นั้น โจทก์ได้รับคืนไปบางส่วนแล้ว สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 068-31453, 059-31473, 059-32324,069-31308, 069-31971 และ 021-32548 ตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 1, 15, 29, 47, 64 และ 80 รวม 6 ฉบับ โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว
ส่วนปัญหาว่าคดีตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 068-31453, 059-31473, 059-32324, 064-31308, 069-31971และ 021-32548 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1, 15, 29, 47, 64, และ 80ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่าตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยฟังได้ว่า วันที่ 17 มิถุนายน 2528 วันที่ 16 พฤษภาคม 2529 วันที่28 พฤษภาคม 2529 วันที่ 13 มิถุนายน 2529 วันที่ 22 มิถุนายน 2529และวันที่ 10 มีนาคม 2531 ซึ่งเป็นวันนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้งหกฉบับนั้น โจทก์ได้ชำระภาษีอากรเฉพาะตามจำนวนที่ได้สำแดงไว้เท่านั้น ส่วนจำนวนที่เจ้าพนักงานของจำเลยเรียกให้โจทก์ชำระเพิ่มนอกเหนือจากที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าโจทก์ยังมิได้ชำระ แต่ได้วางเงินสดและหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นหลักประกันค่าอากรที่อาจต้องชำระเพิ่มเมื่อเจ้าพนักงานของจำเลยประเมินเพิ่มในภายหลัง อันเป็นการดำเนินการเพื่อนำสินค้าออกจากอารักขาของจำเลยตามที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 112 บัญญัติไว้ จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ชำระค่าภาษีอากรเพิ่มในวันนำเข้าแล้ว ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีอากรเพิ่มตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 1ถึง 27 และโจทก์ได้นำเงินไปชำระและรับหลักประกันที่เป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารดังกล่าวคืนก็เป็นการดำเนินการตามที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ การที่โจทก์ชำระค่าภาษีอากรตามที่เจ้าพนักงานของจำเลยแจ้งให้ไปชำระเพิ่มในภายหลังตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าแต่ละฉบับรวม 6 ฉบับ ดังกล่าวข้างต้น จึงมิใช่เรื่องที่โจทก์ชำระค่าภาษีอากรจนครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกันก่อนที่จะนำของไปจากอารักขาของศุลกากรตามที่พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 40 บัญญัติไว้ อันจะถือได้ว่าโจทก์ได้เสียอากรเกินกว่าจำนวนที่พึงต้องชำระเพราะเหตุอันเกี่ยวกับราคาแห่งของอันจะอยู่ในบังคับสิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่ได้เสียไว้เกินในกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่นำสินค้าขาเข้า ตามบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 หากแต่เป็นเรื่องที่โจทก์ชำระค่าอากรเพิ่มเกินกว่าจำนวนที่พึงต้องชำระโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินเงินอากรเพิ่มเพราะเหตุอันเกี่ยวกับราคาแห่งของซึ่งเป็นไปตามมาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ทั้งพระราชบัญญัติศุลกากรดังกล่าวก็มิได้บัญญัติเกี่ยวกับกำหนดอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้กำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 เดิม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2533 ปรากฎว่าโจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มตามที่ได้รับแจ้งการประเมินตามใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1, 15, 29, 47, 64 และ 80 ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share