คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6928/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดซึ่งมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 เมื่อโจทก์นำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาย่อมมีผลเป็นการฟ้องคดีเพื่อชำระหนี้อย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ อันทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) ระยะเวลาภายหลังจากนั้นจึงไม่นับเข้าเป็นอายุความด้วย กรณีไม่ใช่เรื่องการบังคับคดีจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 มาใช้บังคับ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขแดงที่ 17160/2532 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2532 แต่โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเพียงบางส่วน คิดถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2534จำเลยยังค้างชำระหนี้ดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 4,433,822.06 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2534เป็นต้นมา และจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 4145/2532, 11808/2532, 23817/2532 และ 5573/2533 อันเป็นหนี้กำหนดจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท และไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 17160/2532 ของศาลแพ่งครบถ้วนแล้ว และจำเลยไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า กรณีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่จำเลยแก้ฎีกาว่า หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวขณะนี้พ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิบังคับคดีและย่อมไม่อาจนำไปขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ จึงไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายนั้น เห็นว่า หนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษามาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ซึ่งอยู่ภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) เมื่อขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และจากการฟ้องคดีนี้มีผลให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดสะดุดหยุดลงดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ระยะเวลาภายหลังจากนั้นจึงไม่นับเข้าเป็นอายุความด้วย กรณีมิใช่เรื่องการบังคับคดี จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาใช้บังคับข้อแก้ฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้น แม้จำเลยจะมีรายได้จากเงินเดือนในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทแอสแพคบรรจุภัณฑ์ จำกัด เดือนละ 50,000 บาท และข้ออ้างอื่น ๆ อีกแต่ตามพฤติการณ์ที่มีการขายทรัพย์สินจำนองชำระหนี้โจทก์บางส่วนแล้วจำเลยไม่เคยขวนขวายชำระหนี้โจทก์ส่วนที่เหลืออีกเลย กรณีจึงไม่มีเหตุไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยเฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

Share