คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2745/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวาเป็นเงินที่เรียกเก็บจากค่าอากรที่แท้จริงเท่านั้น มิได้เรียกเก็บจากเงินเพิ่มซึ่งถือเป็นเงินอากรด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยนำเงินค่าอากรและค่าภาษีมาชำระครบถ้วนแล้ว แม้จะยังชำระเงินเพิ่มไม่ครบถ้วน กรมศุลกากรโจทก์ก็ไม่อาจคิดเงินเพิ่มได้อีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 จำเลยนำสายไฟฟ้าพร้อมปลั๊กเสียบจำนวน 99 CARTONS มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยสำแดงราคาสินค้าจำนวน 1,502,886.54 บาท ภาษีการค้าจำนวน 135,259 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล (ภาษีส่วนท้องถิ่น) จำนวน 13,525 บาท ค่าธรรมเนียมพิเศษ จำนวน 4,835 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 540,462 บาท จำเลยสำแดงว่าเป็นของที่นำเข้ามาชั่วคราวเพื่อซ่อมได้รับยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภท 3(ช) และให้สัญญาว่าจะส่งกลับออกไปภายใน 6 เดือน นับแต่วันนำเข้า โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) เป็นผู้ค้ำประกันเป็นเงินจำนวน 757,000 บาท จำเลยมิได้ส่งสินค้าดังกล่าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนด จึงต้องชำระอากรและภาษีต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นจำนวน 540,462 บาท แต่จำเลยมิได้นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งจำเลยต้องเสียเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 112 จัตวา นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2533 คำนวณถึงวันที่ 20 ธันวาคม2537 จำนวน 208,895.22 บาท เงินเพิ่มภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89 ทวิ จำนวน 109,560.06 บาท และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 10,956 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 869,873.28 บาท ต่อมาธนาคารได้ชำระเงินที่ค้ำประกันไว้จำนวน 757,000 บาท จึงเหลือเงินที่ต้องชำระจำนวน112,873.28 บาท ค่าภาษีอากรดังกล่าว ตลอดจนเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องรวมทั้งสิ้นจำนวน 321,011.95 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน321,011.95 บาท กับชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า 386,843 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 112,873.28 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 จำเลยนำสายไฟพร้อมปลั๊กเสียบตามฟ้องเข้ามาในราชอาณาจักร โดยสำแดงราคาสินค้าจำนวน 1,502,886.54 บาทอากรขาเข้าจำนวน 386,843 บาท ภาษีการค้าจำนวน 135,259 บาท ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 13,525 บาท ค่าธรรมเนียมพิเศษจำนวน 4,835 บาทรวมทั้งสิ้นจำนวน 540,462 บาท จำเลยสำแดงว่าเป็นของที่นำเข้ามาชั่วคราวเพื่อซ่อม ซึ่งได้รับยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ. 2530 โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยมิได้ส่งสินค้ากลับออกไปภายในกำหนด ต้องชำระภาษีอากรจำนวนดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้านับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2533 ซึ่งคำนวณถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2537 จำนวน 208,895.22 บาท เงินเพิ่มภาษีการค้าจำนวน 109,560.06 บาท และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 10,956 บาทธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 757,000 บาท โจทก์ทั้งสองนำมาชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าภาษีส่วนท้องถิ่นและค่าธรรมเนียมพิเศษ เงินที่เหลือนำมาเฉลี่ยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าจำนวน 137,317 บาท เงินเพิ่มภาษีการค้าจำนวน 72,019 บาทและเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 7,202 บาท ยังคงค้างชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าจำนวน 71,578.22 บาท เงินเพิ่มภาษีการค้าจำนวน37,541.06 บาท และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่น จำนวน 3,754 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 112,873.28 บาท

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองมีว่า การที่จำเลยยังชำระเงินเพิ่มค่าภาษีอากรไม่ครบถ้วน จำเลยจะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มต่อไปหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่ม ในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า เงินเพิ่มเป็นเงินที่เรียกเก็บจากค่าอากรที่แท้จริงเท่านั้น มิได้เรียกเก็บจากเงินเพิ่มซึ่งถือเป็นเงินอากรด้วยดังนั้น เมื่อจำเลยนำเงินค่าอากรและค่าภาษีมาชำระแก่โจทก์ทั้งสองครบถ้วนแล้วแม้จะยังชำระเงินเพิ่มไม่ครบถ้วน โจทก์ทั้งสองก็ไม่อาจคิดเงินเพิ่มได้อีกต่อไปที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share