คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามบทหนักจำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยผิดหลายกระทง ให้ลงโทษตามกระทงที่หนักที่สุด ส่วนกำหนดโทษให้คงเดิม ดังนี้ เป็นเรื่องศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยมาไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาแก้เสียให้ถูกต้องโดยไม่เพิ่มเติมกำหนดโทษจำเลยให้สูงขึ้นอีกได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฐานควบคุมเรือยนต์และเรือกลไม่รับอนุญาตไม่จุดโคมไฟ และประมาทเป็นเหตุให้คนตาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม พ.ศ. 2456 มาตรา 104, 105, 110, 282 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2477 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ควบคุมขับเรือยนต์หางยาวและเรือกลโดยไม่มีประกาศนียบัตร และละเลยไม่ติดโคมไฟในเวลาเดินเรือกลางคืน ขับเรือด้วยความเร็วสูงในขณะฝนตกเดือนมืด จนเรือทั้ง 2 แล่นเข้าหากันในระยะกระชั้นชิดแล้วจึงต่างแลเห็นเรืออีกฝ่ายหนึ่งซึ่งไม่ทันป้องกันมิให้เรือชนกันได้เป็นเหตุให้เรือจำเลยที่ 2 ชนเรือ จำเลยที่ 1 และผู้โดยสารจมน้ำถึงแก่ความตาย 3 คน โดยจำเลยมีความประมาทเท่า ๆ กัน พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม พ.ศ. 2456 มาตรา 104, 105, 110, 282 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนัก มีกำหนดคนละ 4 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ 3 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงมาชอบแล้วแต่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามบทหนักนั้น ไม่เห็นด้วย พิพากษาแก้ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดควบคุมขับเรือยนต์โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม พ.ศ. 2456 มาตรา 104, 110 กระทงหนึ่ง ผิดฐานไม่จุดโคมไฟสัญญาณเรือในเวลากลางคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วมาตรา 282 พระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2477 มาตรา 3 กระทงหนึ่ง ผิดฐานกระทำประมาทให้คนตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 อีกกระทงหนึ่งแต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุดตามมาตรา 91 ส่วนกำหนดโทษให้คงเดิม

จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยกระทำความผิดหลายบทหลายกระทง ต่างกรรมต่างวาระกันนั้น ไม่ถูกต้อง การกระทำผิดของจำเลยควรเป็นความผิดกฎหมายหลายบทเท่านั้น

ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ได้ระบุกล่าวแยกการกระทำของจำเลยมาเป็นกิจจะลักษณะแต่ละกรรมและข้อเท็จจริงก็ฟังได้เช่นนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกระทงตามที่ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดมานั้นถูกต้องแล้ว คงมีปัญหาว่า เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อนี้ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้หรือไม่ ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 นั้น ย่อมเห็นได้ว่ากฎหมายห้ามเพียงมิให้พิพากษาเพิ่มเติมกำหนดโทษจำเลยขึ้นอีกเท่านั้น ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยมาไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะพิพากษาแก้เสียให้ถูกต้องโดยไม่เพิ่มเติมกำหนดโทษจำเลยให้สูงขึ้นอีกได้

แต่ข้อที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานควบคุมขับเรือยนต์โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม พ.ศ. 2456 มาตรา 104, 110 กระทงหนึ่งผิดฐานไม่จุดโคมไฟสัญญาณเรือในเวลากลางคืน ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว มาตรา 282 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพ.ศ. 2477 มาตรา 3 กระทงหนึ่ง นั้น ปรากฏว่า การปรับบทมาตราลงโทษจำเลยไขว้กัน

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานควบคุมเรือยนต์โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 282 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2477 มาตรา 3 กระทงหนึ่งผิดฐานไม่จุดโคมไฟสัญญาณเรือในเวลากลางคืน ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 104, 110 กระทงหนึ่งนอกจากที่แก้นี้แล้วคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share