คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114-1115/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2497 กฎหมายมิได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า เมื่อปรากฏว่าผู้ใดมีสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสิ่งต้องกำกัดหรือเป็นสิ่งลักลอบหนีศุลกากรไว้ในครอบครองก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากรหากแต่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นความจริงตามข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้พบเห็น ข้อนี้เป็นข้อสันนิษฐานข้อแรกส่วนข้อสันนิษฐานว่าผู้ที่มีสิ่งนั้นไว้ในครอบครอง เป็นผู้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือนำเข้ามาเป็นการลักลอบหนีศุลกากรนั้นเป็นเพียงผลที่สืบเนื่องจากข้อสันนิษฐานข้อแรกนั้น เมื่อแปลความหมายดังนี้ จึงเห็นว่าข้อเท็จจริงที่จะจดแจ้งลงในบันทึกนั้น อย่างน้อยจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ประกอบกันเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมพอจะแสดงเค้ามูลว่า ผู้มีไว้ในครอบครองนั้นเป็นผู้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากร
บันทึกการดูของกลางว่าได้มีการขายของกลางไปจากร้านจึงมีลักษณะเป็นเพียงบันทึกดูของกลางในคดีอื่นๆทั่วไปหาได้มีลักษณะเป็นบันทึกอันจะก่อให้เกิดข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2497(ฉบับที่ 12) ไม่ ฉะนั้น เรื่องหน้าที่นำสืบ การวินิจฉัยพยานหลักฐานย่อมเป็นไปตามหลักที่ใช้ทั่วไปแก่คดีอาญาทั้งปวง คือ โจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลย และจะลงโทษจำเลยก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานพอให้ฟังว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง

Share