แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ ป. จะไม่ได้กล่าวถึงข้อความที่ว่า “เราชาวนราฯ ผู้สนับสนุนพรรค ช. ขอส่งรองประธานสาขาพรรค เขต 1 ว. เบอร์ 1 เขต 4 เป็นสมาชิก อบจ.” ในหนังสือร้องเรียน แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความดังกล่าวจากการไต่สวนของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต. จว. นราธิวาส ตามบันทึกถ้อยคำของ อ. ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนราธิวาสต้องส่งสำนวนและความเห็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ตามข้อ 31 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2546 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จึงเท่ากับว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้วินิจฉัยข้อความที่ว่า “เราชาวนราฯ ผู้สนับสนุนพรรค ช. ขอส่งรองประธานสาขาพรรค เขต 1 ว. เบอร์ 1 เขต 4 เป็นสมาชิก อบจ.” ที่ปรากฏจากการไต่สวนของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต. จว. นราธิวาส ว่า เป็นข้อความที่แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองด้วยวิธีการหลอกลวง ให้เข้าใจผิดว่าตนเป็นผู้สมัครของพรรค ช. ตามหนังสือร้องเรียนของ ป. แล้ว ดังนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยตามข้อ 36 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2546 การแจ้งความร้องทุกข์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 4, 57, 118
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (ที่ถูก มาตรา 57 (5)), 118 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา (ที่ถูก ต้องระบุ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ด้วย)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การร้องทุกข์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือร้องเรียน นางปัทมาร้องเรียนว่า จำเลยทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 57 (5) เนื่องด้วยกระทำการหลอกลวงโดยใช้รถอีซูซุ หมายเลขทะเบียน บง 6435 นราธิวาส ทำเป็นรถแห่ มีข้อความหลอกลวงว่าตนเป็นผู้สมัครที่พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน อันมีผลทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิดในคะแนนนิยม กระทำผิดที่บริเวณถนนพนาสณฑ์ อำเภอเมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นการร้องเรียนว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองด้วยวิธีการหลอกลวงให้เข้าใจผิดว่าตนเป็นผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (5) ดังนี้ แม้นางปัทมาจะไม่ได้กล่าวถึงข้อความที่ว่า “ชาวนราฯ ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ขอส่งรองประธานสาขาพรรค เขต 1 นายแวยูโซะ (โตะแวผ้าขาว) เบอร์ 1 เขต 4 เป็นสมาชิก อบจ.” ในหนังสือร้องเรียน แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความดังกล่าวจากการไต่สวนของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต. จว. นราธิวาส ตามบันทึกถ้อยคำของนายอับดุลนาเซหรืออาบู ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนราธิวาสต้องส่งสำนวนและความเห็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ตามข้อ 31 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2546 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จึงเท่ากับว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้วินิจฉัยข้อความที่ว่า “ชาวนราฯ ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ขอส่งรองประธานสาขาพรรค เขต 1 นายแวยูโซะ (โตะแวผ้าขาว) เบอร์ 1 เขต 4 เป็นสมาชิก อบจ.” ที่ปรากฏจากการไต่สวนของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต. จว. นราธิวาส ว่า เป็นข้อความที่แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองด้วยวิธีการหลอกลวงให้เข้าใจผิดว่าตนเป็นผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ตามหนังสือร้องเรียนของนางปัทมาแล้ว ดังนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยตามข้อ 36 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2546 การร้องทุกข์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน