คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4691/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การจอดรถกีดขวางการจราจร และการใช้รถที่บรรทุกเกินความยาวของตัวรถโดยไม่ติธงสัญญาณตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57 (15) กับการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายอันเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 291 ตามฟ้องนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำในครั้งคราวเดียวที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 15, 57, 148, 152
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57 (15), 148, 152 ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 6 ปี ฐานบรรทุกของยื่นเกินความยาวของตังรถ โดยไม่แสดงสัญญาณปรับ 500 บาท ฐานจอดรถกีดขวางการจราจรปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 6 ปี ปรับ 1,500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี และปรับ 750 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษปรับจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายอีกสถานหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาท และปรับฐานจอดรถกีดขวางการจราจรเป็นเงิน 500 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คงปรับ 5,000 บาท ฐานจอดรถกีดขวางการจราจรปรับ 250 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจังหวัดลำปางทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ตลอดระยะเวลารอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า สมควรลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าการจอดรถกีดขวางการจราจร และการใช้รถที่บรรทุกเกินความยาวของตัวรถโดยไม่ติดธงสัญญาณตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่ได้ความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยว่าภายหลังเกิดเหตุแล้วจำเลยก็ไม่ได้หลบหนีและได้ประสานงานกับชาวบ้านแล้วนำเหตุไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจประจำป้อมตำรวจที่ใกล้เคียงทันที จำเลยมีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่ง มีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูครอบครัว ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏจากคำแก้ฎีกาจำเลยว่า จำเลยได้พยายามบรรเทาผลร้ายโดยการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ภริยาผู้ตายไปแล้วเป็นจำนวน 450,000 บาท กรณีจึงมีเหตุสมควรปรานีจำเลยโดยการรอการลงโทษจำคุกไว้เพื่อให้โอกาสจำเลยได้ประพฤติตนเป็นคนดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การจอดรถกีดขวางการจราจร และการใช้รถที่บรรทุกเกินความยาวของตัวรถโดยไม่ติดธงสัญญาณตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 กับการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ตามฟ้องนั้นถือได้ว่าเป็นการกระทำในครั้งคราวเดียวที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57 (15), 148, 152 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยไม่ปรับจำเลยสำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share