คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4766/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาซื้อขาย เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่สามารถส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายให้โจทก์ได้ตามสัญญา โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายได้หลายทาง ซึ่งข้อกำหนดตามสัญญาซื้อขายด้งกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อไว้ล่วงหน้าในกรณีผู้ขายไม่ปฏิบัติตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ถ้ากำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่จะลดลงเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้น กฎหมายให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินโจทก์จึงต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญามากน้อยเพียงใด แต่โจทก์ไม่นำสืบให้ศาลเห็น ศาลจึงต้องกำหนดให้เป็นจำนวนพอสมควร
แม้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 138 จะกำหนดว่าหากจำนวนค่าปรับจะเกินร้อยละ 10 ของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างให้ส่วนราชการพิจารณาบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาผ่อนปรนการปรับตามสัญญาเท่าที่จำเป็น เมื่อจำเลยมิได้ยินยอมให้ส่วนราชการปรับส่วนราชการจึงต้องบอกเลิกสัญญา แต่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ มิใช่กฎหมาย เป็นเพียงข้อแนะนำว่าด้วยเรื่องพัสดุของทางราชการเท่านั้น จึงมิใช่ข้อบังคับโจทก์ห้ามเรียกค่าเสียหายเกินร้อยละ 10 ของราคาสิ่งของที่ซื้อขายแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อเครื่องมือสื่อสารใต้น้ำแบบติดตัวนักดำน้ำซึ่งผลิตในประเทศสหราชอาณาจักรเป็นเงิน 3,724,434.60 บาท จากจำเลย เมื่อครบกำหนดเวลาส่งมอบของ จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงริบเงินประกันจำนวน 372,443.46 บาท จากจำเลยและปรับจำเลยตามสัญญาเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดสองของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้ส่งมอบ รวมเป็นเงินค่าปรับจำนวน 1,124,779.25 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,236,467.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,124,779.25 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเบี้ยปรับ จำนวน 562,389.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่าค่าปรับรายวันที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 562,389.62 บาท นั้น เหมาะสมหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองลดเบี้ยปรับรายวันให้จำเลยลงกึ่งหนึ่งเหลือ 562,389.62 บาท นั้น ไม่ถูกต้อง โจทก์ควรได้รับค่าปรับเต็มตามสัญญา ส่วนจำเลยฎีกาว่าที่ศาลล่างทั้งสองลดค่าปรับให้จำเลยมานั้น จำเลยเห็นว่ายังสูงเกินไป เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่สามารถส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายให้โจทก์ได้ตามสัญญา โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายหลายทาง กล่าวคือ ตามสัญญาข้อ 10 วรรคสาม ระบุว่า ในระหว่างที่ผู้ซื้อยังมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น หากผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 8 กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ข้อ 9 วรรคสอง ก็ได้ และถ้าผู้ซื้อแจ้งข้อเรียกร้องให้ชำระค่าปรับไปยังผู้ขาย เมื่อครบกำหนดส่งมอบแล้วผู้ซื้อมีสิทธิที่จะปรับผู้ขายจนถึงวันบอกเลิกสัญญาได้อีกด้วย ข้อกำหนดตามสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อไว้ล่วงหน้าในกรณีผู้ขายไม่ปฏิบัติตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับถ้ากำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่จะลดลงเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้น กฎหมายให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน โจทก์จึงต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญามากน้อยเพียงใด แต่โจทก์ไม่นำสืบให้ศาลเห็นศาลจึงต้องกำหนดให้เป็นจำนวนพอสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนถึงกำหนดส่งมอบของตามสัญญา จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 20 มกราคม 2541 ถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 แจ้งว่าไม่สามารถส่งสินค้าให้โจทก์ได้ เพราะค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมาก ขอยกเลิกสัญญาซื้อขายยกับโจทก์ แสดงว่าโจทก์ทราบดีตั้งแต่แรกแล้วว่าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่โจทก์ก็ยังปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไปโดยไม่มีเหตุผลสมควรอีกนานถึง 151 วัน หลังจากครบกำหนดสัญญา นอกจากนี้ยังปรากฏตามทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์มิได้โต้แย้งว่า มีระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 138 เอกสารหมาย ล.5 ระบุว่า ในกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงได้ และจะต้องมีการปรับตามข้อสัญญาหรือข้อตกลงนั้น หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละ 10 ของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างให้ส่วนราชการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงแสดงให้เห็นว่าตามระเบียบของหน่วยราชการที่ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติได้ยึดแนวทางปฏิบัติที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่ายมากจนเกินไป ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าปรับรายวันให้จำเลยชำระแก่โจทก์ 562,389.62 บาท นอกเหนือจากค่าปรับตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่โจทก์รับไปแล้วเป็นเงิน 372,443.46 บาท เท่ากับโจทก์จะได้รับค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 25.1 ของราคาสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาจึงสูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าปรับรายวันเสียใหม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าสิ่งของที่โจทก์ซื้อจากจำเลยเป็นสิ่งของที่นำมาใช้ในกิจการเกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ มีลำดับความสำคัญสูงสุดความล่าช้าในการปฏิบัติตามสัญญาอาจนำมาซึ่งผลเสียหายที่ร้ายแรงแต่ปรากฏว่าหลังจากครบกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รีบดำเนินการขวนขวายจัดหาสิ่งของดังกล่าวที่อ้างว่ามีความสำคัญสูงสุดโดยวิธีอื่นเพื่อเตรียมพร้อมไว้ใช้ในราชการของโจทก์แต่อย่างใด แสดงว่ายังไม่มีความเสียหายร้ายแรงมากตามที่โจทก์อ้าง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน แต่ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 138 กำหนดไว้ว่าในกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงได้ และจะต้องมีการปรับตามข้อสัญญาหรือข้อตกลงนั้น หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละ 10 ของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างให้ส่วนราชการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงเว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาผ่อนปรนการปรับตามสัญญาได้เท่าที่จำเป็น แต่จำเลยมิได้ยินยอมให้ส่วนราชการปรับ ส่วนราชการจึงต้องบอกเลิกสัญญาก่อนที่จำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละ 10 ของวงเงินค่าพัสดุ เห็นว่า ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวมิใช่กฎหมาย เป็นเพียงข้อแนะนำว่าด้วยเรื่องพัสดุของทางราชการเท่านั้น มิใช่ข้อบังคับโจทก์ห้ามเรียกค่าเสียหายเกินร้อยละ 10 ของราคาสิ่งของที่ซื้อขายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share