แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3, ที่ 4 ร่วมกับพวกอีกหลายคนทำการหน่วงเหนี่ยวกักขัง และบังคับขู่เข็ญผู้เสียหายทั้งสี่ให้ค้าประเวณี ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก กระทงหนึ่ง และผิดตาม มาตรา 283 วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก ๓ คน ได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ก. จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก ๓ คน เพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นบังอาจสมคบกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป ชักพาไป เพื่อการอนาจารซึ่งนางน้อย ตังหงษ์ นางสาวอุทัย ยามโสภา นางสาวอารีวัลย์ วงศ์ดำ และนางนวลจันทร์ ปัตวงศ์ ผู้เสียหายโดยนายเสถียร หอมรส และนายบัญชา ศรีกาญจน์ พวกจำเลยที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ใช้อุบายหลอกลวงว่าจะพาไปทำงานที่ร้านขายอาหารจังหวัดภูเก็ต แต่นายเสถียร หอมรส และนายบัญชา ศรีกาญจน์ กลับพาผู้เสียหายทั้งสี่มามอบแก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ควบคุมตัวไว้ เพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสี่รับจ้างค้าประเวณี โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ร่วมกันขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม ข่มขืนใจผู้เสียหายให้ร่วมประเวณีกับชายอื่นเพื่อสินจ้าง ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งเจ็ดกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมรับค่าจ้างร่วมประเวณีจากชายอื่นที่มาร่วมประเวณีกับนางน้อย ตังหงษ์ นางสาวอุทัย ยามโสภา นางสาวอารีวัลย์ วงศ์ดำ และนางนวลจันทร์ ปัตวงศ์ และ ข. จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก ๓ คน ได้หน่วงเหนี่ยว กักขัง นางน้อย ตังหงษ์นางสาวอุทัย ยามโสภา นางสาวอารีวัลย์ วงศ์ดำ และนางนวลจันทร์ ปัตวงศ์ ไว้ในห้องใส่กุญแจไว้ ทำให้พวกผู้เสียหายทั้งสี่ปราศจากเสรีภาพในร่างกายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๐, ๒๘๓, ๒๘๔, ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๐ และนับโทษจำเลยที่ ๓ ต่อจากโจทก์ในคดีอื่น
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๓ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๓ วรรคแรก, ๓๑๐ วรรคแรก, ๘๓, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๐ ลงโทษจำคุก นับโทษจำเลยที่ ๓ ต่อจากโทษในคดีอื่น
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๖ ที่ ๗นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๖, ที่ ๗ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังเป็นยุตินั้นยังไม่เป็นความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ในปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังเป็นยุตินั้นเป็นความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ รวม ๒ กระทง แต่ละกระทงไม่เกิน ๕ ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ดังนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามคำพยานหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ได้ร่วมกับพวกอีกหลายคนทำการหน่วงเหนี่ยวกักขังและบังคับขู่เข็ญผู้เสียหายทั้งสี่ให้ค้าประเวณี ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๐ วรรคแรก กระทงหนึ่ง และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๓ วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง ซึ่งบทมาตราดังกล่าวก็เป็นบทมาตราที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ตามบทมาตราดังกล่าวจึงเป็นการถูกต้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์และตรงตามตัวบทกฎหมายทุกประการแล้ว
พิพากษายืน.