แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ประสงค์จะฆ่าผู้ตายติดต่อกับจำเลยที่ 3 ให้หาคนมายิงผู้ตายจำเลยที่ 3 เป็นผู้ติดต่อพาจำเลยที่ 1 ที่ 2 มาพบผู้ว่าจ้าง และได้รับมอบปืน 2 กระบอกจากผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 วันเกิดเหตุผู้ว่าจ้างพาจำเลยทั้งสามมาดูตัวผู้ตายกับพวกจนจำได้ ตอนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยิงผู้ตายจำเลยที่ 3 ยืนอยู่คนละฝั่งถนนโดยจำเลยที่ 3 มีมีดปลายแหลมติดตัวเพียง 1 เล่มเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยิงผู้ตายแล้วจำเลยที่ 3 เป็นผู้วิ่งนำพาจำเลยที่ 1 ที่ 2 หลบหนี ดังนี้การกระทำของจำเลยที่ 3 ยังไม่ถึงขั้นเป็นการร่วมมือในขณะกระทำความผิดหรือเป็นการแบ่งแยกหน้าที่กันทำ เพราะไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 3 จะต้องมาคอยชี้หรือให้สัญญาณให้ยิง และคงจะไม่เข้าช่วยเหลือซ้ำเติมหรือทำอันตรายแก่ผู้ตายอีกเพราะไม่มีอาวุธปืน การที่จำเลยที่ 3 อยู่ในที่เกิดเหตุก็เพียงคอยวิ่งนำหน้าพาจำเลยที่ 1 ที่ 2 หลบหนีไปในเส้นทางที่ตนชำนาญเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ในการฆ่าผู้ตาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 86 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๓, ๙๑
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) ประกอบด้วย มาตรา ๘๓ และพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔), ๘๓
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษของจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ จำเลยที่ ๓ ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับได้ใกล้ชิดกับที่เกิดเหตุในขณะที่กำลังวิ่งหลบหนีอยู่กลางทุ่งนาพร้อมด้วยมีดของกลาง ทั้งนี้โดยผู้ประสงค์จะฆ่าผู้ตายติดต่อกับจำเลยที่ ๓ ให้หาคนมายิงผู้ตาย และจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ติดต่อพาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มาพบผู้ว่าจ้าง และได้รับมอบปืน ๒ กระบอกจากผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ วันเกิดเหตุผู้ว่าจ้างพาจำเลยทั้งสามมาดูตัวผู้ตายกับพวกจนจำได้ ในตอนที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยิงผู้ตายจำเลยที่ ๓ ยืนอยู่คนละฝั่งถนน และจำเลยที่ ๓ ไม่มีอาวุธปืน คงมีแต่มีดปลายแหลมติดตัวอยู่เพียงเล่มเดียว เมื่อจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ยิงผู้ตายจำเลยที่ ๓ ยืนอยู่คนละฝั่งถนน เมื่อจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยิงผู้ตายแล้วจำเลยที่ ๓ เป็นผู้วิ่งนำพาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ หลบหนี แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ ๓ ดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นเป็นการร่วมมือกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฆ่าผู้ตายหรือเป็นการแบ่งแยกหน้าที่กันทำ เพราะจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ รู้จักตัวผู้ตายตามที่ผู้ว่าจ้างพามาดูแต่แรกแล้ว ไม่จำเป็นที่จำเลยที่ ๓ จะต้องมาคอยชี้หรือให้สัญญาณให้ยิง อีกและเป็นที่เหตุได้ชัดว่า แม้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จะยิงผู้ตายพลาด จำเลยที่ ๓ ก็คงไม่เข้าช่วยเหลือโดยซ้ำเติมหรือทำอันตรายแก่ผู้ตายอีก เพราะจำเลยที่ ๓ ไม่มีอาวุธปืนและอยู่คนละฝั่งถนนดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยที่ ๓ อยู่ในที่เกิดเหตุก็เพียงคอยวิ่งนำหน้าพาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ หลบหนีไปในเส้นทางที่ตนชำนาญเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ ๓ ดังกล่าวจึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในการฆ่าผู้ตาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ เท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) ประกอบด้วย มาตรา ๘๖, ๕๒