แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมกัน ประมวลแพ่ง ม.291,297 อย่างไรจึงจะเข้าหลักค้ำประกัน
ย่อยาว
ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ ๑-๒ รับเหมาก่อตึกของจำเลยที่ ๓ แลจะซื้อเชื่ออิฐที่โจทก์ ๆ ไม่เชื่อถือจำเลยที่ ๑-๒ โจทก์จึงมาหาจำเลยที่ ๓ เองถามว่าจะซื้ออิฐของโจทก์หรือจำเลยที่ ๓ ก็รับรองแก่โจทก์ ๆ จึงยอมส่งอิฐมาให้ เงินค่าอิฐยังค้างอยู่ซึ่งเปนส่วนของนายพั่งโจทก์ ๔๒๐ บาท ๙๔ สตางค์ ส่วนของนายพัน ๓๒๓ บาท ๘๕ สตางค์ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยทั้ง ๓ ใช้เงินรายนี้
ศาลเดิมตัดสินว่าจำเลยที่ ๑ คนเดียวเปนผู้ซื้ออิฐของโจทก์ จำเลยที่ ๒ เปนแต่ผู้ไปด้วยส่วนจำเลยที่ ๓ ถึงแม้จะฟังว่าได้พูดรับรอง ( ด้วยวาจา ) กับโจทก์ในเรื่องเงินค่าอิฐก็ดี แต่หามีลายลักษณอักษรอย่างใดไม่ จึงไม่มัดจำเลยที่ ๓ ให้ต้องรับผิดในฐานที่เปนผู้ค้ำประกัน ให้ยกข้อหาฉะเพาะตัวจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เสีย
ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้จำเลยที่ ๓ ใช้ราคาอิฐที่ค้างกับดอกเบี้ย+รวมกับจำเลยที่ ๑ ให้แก่โจทก์ในฐานเปนผู้ค้ำประกัน
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีฉะเพาะตัวจำเลยที่ ๓ นั้น เปนผู้ซื้ออิฐรายนี้ของโจทก์ร่วมกันจำเลยที่ ๑ ด้วย ( ไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน ) แลในฟ้องของโจทก์ก็กล่าวข้อความชัดว่า เมื่อโจทก์ได้ส่งอิฐมาให้แก่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ แล้ว จำเลยที่ ๓ รับผิดชอบจะใช้ราคาให้ โจทก์ไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑-๒ ไม่ใช้ราคาแล้ว จำเลยที่ ๓ จะเปนผู้ใช้ราคาจึงไม่มีข้อความอันใดจะแปลว่าจำเลยที่ ๓ เปนผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์