แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่เป็นส่วนราชการของกรมการปกครองโจทก์มิได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน จำเลยเป็นข้าราชการสังกัดกรมโจทก์ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นกรรมการดำเนินงานของโรงพิมพ์ อันเป็นการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนมีอำนาจจัดการโรงพิมพ์แทนเจ้าของกิจการซึ่งเป็นตัวการ การที่จำเลยร่วมกันอนุมัติจ่ายเงินผลกำไรสุทธิและเงินกำไรสะสมของโรงพิมพ์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นเป็นไปตามระเบียบของโรงพิมพ์ซึ่งโจทก์ยินยอมให้ถือปฏิบัติย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนตามที่ได้รับมอบหมายโดยชอบถึงหากจะฟังว่าโรงพิมพ์ เครื่องพิมพ์ และทรัพย์สินของ โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นของโจทก์ การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จะฟ้องให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่โจทก์หาได้ไม่ และเนื่องจากคำพิพากษาเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 ประกอบด้วย มาตรา 247
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาตามประเด็นที่โจทก์รอสืบและประเด็นอื่นหากมีต่อไปทั้งแปดสำนวน แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 200 บาทให้โจทก์ จำเลยทั้งแปดสำนวนเว้นแต่นายพจน์จำเลยในสำนวนที่ 3 ถึงที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ตามคำฟ้องคำให้การและคำรับของคู่ความ ประกอบกับสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 16749/2524ของศาลอาญา ที่คู่ความอ้างเป็นพยานร่วมกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์ในการรักษาความสงบ ความมั่นคง ส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมอาชีพและอื่น ๆในส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการค้าหากำไรเดิมโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นอยู่ภายใต้การดำเนินการของกองอาสารักษาดินแดน เมื่อเดือนกันยายน 2500 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนหมดหน้าที่ในการฝึกอบรมสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนและหน้าที่กำกับดูแลกิจการในกองอาสารักษาดินแดน ให้มอบกิจการต่าง ๆ รวมทั้งอาคารโรงพิมพ์เครื่องพิมพ์ และอุปกรณ์การพิมพ์ทั้งสิ้นแก่โจทก์ ซึ่งได้มีการส่งมอบกันเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2500 เมื่อโจทก์รับมอบมาแล้วได้เปลี่ยนชื่อโรงพิมพ์เป็นโรงพิมพ์กรมมหาดไทยตามชื่อกรมโจทก์ในขณะนั้น และต่อมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2503 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นในการดำเนินกิจการโรงพิมพ์ ได้มีการตีราคาทรัพย์สินของโรงพิมพ์ถือเป็นทุนของโจทก์ ส่วนเงินที่ใช้ในการหมุนเวียนได้มาจากการกู้และการลงหุ้นของหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และสุขาภิบาล โดยมิได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินกิจการโรงพิมพ์ขึ้น 2 คณะ คือ คณะกรรมการบริหาร มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบทั่วไปในกิจการของโจทก์ กำหนดนโยบาย ออกกฎข้อบังคับ ระเบียบการและคำสั่งในการดำเนินงาน กับคณะกรรมการดำเนินงาน มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบาย กฎข้อบังคับระเบียบการและคำสั่งที่คณะกรรมการบริหารได้กำหนดและวางไว้ เดิมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร ต่อมาได้มีคำสั่งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะกรรมการบริหารแทน คณะกรรมการทั้งสองคณะส่วนใหญ่เป็นกรรมการที่แต่งตั้งตามตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยเฉพาะคณะกรรมการดำเนินงานมีอธิบดีกรมโจทก์เป็นประธานขณะเกิดเหตุอันเป็นมูลกรณีพิพาทในคดีนี้ จำเลยทุกคนเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกรมโจทก์โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน และเป็นกรรมการดำเนินงานของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นตามคำสั่งแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นดำเนินการค้าหากำไร รายได้และผลกำไรที่ได้มาไม่เคยมีการนำส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน จำเลยทุกคนเป็นผู้สั่งจ่ายเงินตามที่โจทก์ฟ้อง และได้รับเงินไปตามที่โจทก์ฟ้องโดยรับไปตามระเบียบของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นที่วางไว้ การจ่ายเงินจำเลยจ่ายไปตามระเบียบของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นที่วางไว้ มีปัญหาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 7 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ได้รับมอบโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นมา การแบ่งส่วนราชการของกรมจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และต่อมาเมื่อมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติเดิม ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวข้อ 6 ก็คงบัญญัติไว้เช่นเดียวกันว่าการแบ่งส่วนราชการภายในกรมให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแต่ไม่ปรากฏว่าได้เคยมีการตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมโจทก์ให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการของกรมโจทก์มาก่อน คงมีแต่คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมอบอาคารโรงพิมพ์เครื่องพิมพ์และอุปกรณ์การพิมพ์ทั้งสิ้นแก่โจทก์ จนกระทั่งวันที่ 10 เมษายน 2524ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่เกิดเหตุอันเป็นมูลกรณีพิพาทในคดีนี้ นายประเทืองกีรติบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นจึงได้สั่งให้จัดแบ่งส่วนราชการให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการสังกัดกรมโจทก์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการแต่อย่างใดนอกจากนี้ยังปรากฏว่าในการดำเนินกิจการโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น เงินที่ใช้ในการหมุนเวียนได้มาจากการกู้และการลงหุ้นของหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และสุขาภิบาล โดยมิได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่เคยเสนอประมาณการรายรับและรายจ่ายต่อสำนักงบประมาณทั้งไม่เคยมีการตั้งงบประมาณแผ่นดินไว้ดำเนินกิจการของโรงพิมพ์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจึงไม่เป็นส่วนราชการของโจทก์ ดังนั้นเงินรายได้และผลกำไรของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นย่อมมิใช่รายได้อันจะต้องนำส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินในนามของโจทก์ดังที่โจทก์ฟ้อง ที่โจทก์ขอสืบพยานเพิ่มเติมว่าโรงพิมพ์ เครื่องพิมพ์และทรัพย์สินของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นของโจทก์ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว เงินผลกำไรสุทธิและกำไรสะสมของโรงพิมพ์อาจเป็นดอกผลซึ่งตกได้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าผลกำไรของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นกำไรสุทธิประจำแต่ละปีหรือกำไรที่สะสมไว้ล้วนเป็นผลอันได้มาจากการประกอบกิจการของโรงพิมพ์ซึ่งอาจเป็นเงินสดหรือทรัพย์สินอื่น มิใช่ดอกผลธรรมดาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากแม่ทรัพย์ เพราะเหตุที่ได้ใช้แม่ทรัพย์นั้น ทั้งมิใช่ดอกผลนิตินัย เพราะหาใช่ทรัพย์ที่ได้เป็นครั้งเป็นคราวจากผู้อื่นเพื่อตอบแทนการที่ได้ใช้แม่ทรัพย์นั้นแต่อย่างใดไม่ แต่อย่างไรก็ดีผลกำไรของกิจการใดก็ย่อมจะตกได้แก่เจ้าของกิจการนั้น จำเลยทุกคนต่างได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นกรรมการดำเนินงานของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น อันเป็นการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนมีอำนาจจัดการโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นแทนเจ้าของกิจการซึ่งเป็นตัวการถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดีเพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี จำเลยในฐานะตัวแทนจะต้องรับผิดต่อตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งแปดสำนวนกล่าวอ้างว่า จำเลยร่วมกันอนุมัติจ่ายเงินผลกำไรสุทธิและเงินกำไรสะสมของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบของทางราชการอันทำให้โจทก์เสียหายแต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายข้อบังคับ หรือระเบียบของทางราชการประการใด กลับได้ความตามคำรับของคู่ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นไปตามระเบียบของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นที่วางไว้ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้รับมอบโรงพิมพ์มาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2500 ตลอดเวลาที่ดำเนินกิจการมาภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการบริหารซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และอธิบดีกรมโจทก์เองเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ไม่เคยมีใครทักท้วงว่าระเบียบของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบของทางราชการ เพิ่งจะมีการรื้อฟื้นขึ้นทักท้วงในภายหลังเมื่อนายประเทืองกีรติบุตร เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อจำเลยกระทำตามระเบียบซึ่งโจทก์ยินยอมให้ถือปฏิบัติ ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนตามที่ได้รับมอบหมายโดยชอบถึงหากจะฟังว่าโรงพิมพ์ เครื่องพิมพ์และทรัพย์สินของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นของโจทก์ การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จะฟ้องให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่โจทก์หาได้ไม่ คดีไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งแปดสำนวนฟังขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากคำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงนายพจน์ ภู่อารีย์ จำเลยในแต่ละสำนวนซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245ประกอบกับมาตรา 257”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งแปดสำนวนไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นสมควรให้ค่าฤชาธรรมเนียมทุกฝ่ายทุกสำนวนต่างเป็นพับกันไปทั้งสามศาล