คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4216/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีหนังสือเชิญโจทก์โดยเฉพาะเจาะจงให้มาทำงานกับจำเลยในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนที่แน่นอน หนังสือดังกล่าวจึงเป็นคำเสนอ ส่วนข้อความตอนท้ายที่ว่าจึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณานั้น เป็นการให้โอกาสโจทก์ที่จะมีคำสนองต่อจำเลยหรือไม่ เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยแล้วจึงเป็นคำสนองของโจทก์ แต่การที่ต่อมาโจทก์ได้ทำใบสมัครงานกับจำเลยโดยกำหนดให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงานเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขขึ้นใหม่ เช่นนี้จึงมีผลเป็นว่าโจทก์จำเลยได้มีข้อตกลงกันใหม่โดยยกเลิกข้อตกลงเดิมนั้นแล้ว โจทก์ต้องผูกพันตามข้อตกลงใหม่
ข้อบังคับของบริษัทจำเลยมีว่า กรรมการของบริษัทที่ทำงานในโรงพยาบาลด้วยไม่ต้องทดลองงานมีความหมายว่ากรรมการซึ่งมีอำนาจจัดการตามข้อบังคับของบริษัทโดยอยู่ในความครอบงำ ของที่ประชุมใหญ่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1144 และกรรมการผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่อื่นเช่นพนักงานคนหนึ่งของบริษัทด้วยเช่นนี้ กรรมการผู้นั้นไม่ต้องทดลองงานโจทก์ไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทจำเลยไม่ว่าโจทก์จะดำรงตำแหน่งใดในบริษัทจำเลย โจทก์ก็คงมีฐานะเป็นลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานคนหนึ่งของจำเลยเท่านั้นหาใช่ว่าตำแหน่งที่โจทก์ดำรงอยู่เป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาแล้ว จะมิใช่พนักงานของจำเลยไม่ เมื่อโจทก์มิได้ทักท้วงเงื่อนไขที่จำเลยให้ทดลองปฏิบัติงานโจทก์ก็ต้องผ่านการทดลองปฏิบัติงานตามข้อตกลงใหม่
โจทก์อุทธรณ์ว่า ส. เขียนเงื่อนไขในใบสมัครงานเพิ่มเติมโดยพลการลับหลังโจทก์ เป็นการปลอมเอกสารโจทก์จำเลยไม่เคยตกลงเงื่อนไขดังกล่าวต่อกันและ ส. เบิกความกลับไปกลับมาบิดเบือนความจริงหลายประการ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54
โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยโดยอยู่ในระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานเป็นเวลา 3 เดือน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างทดลองปฏิบัติงานได้ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๗ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ค่าจ้างเดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและจำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์อีก ๒,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๓,๗๐๙,๐๐๐ บาท ค่าจ้างที่ค้าง ๒,๐๐๐ บาท และค่าชดเชย ๑๒,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยให้โจทก์ทดลองงานเป็นเวลา ๓ เดือน ตามข้อบังคับโจทก์ไม่เอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่ เกียจคร้าน หย่อนความสามารถ ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เมื่อครบกำหนดเวลาทดลองงาน ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมค่าเสียหายโจทก์กำหนดขึ้นเองอย่างเลื่อนลอย ส่วนค่าจ้าง ๒,๐๐๐ บาท นั้น จำเลยหักเป็นค่าดอกเบี้ยที่โจทก์ค้างชำระเงินค่าหุ้น จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างทดลองงาน ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายและค่าชดเชย ส่วนที่จำเลยหักค่าจ้างโจทก์ไว้ ๒,๐๐๐ บาท มิใช่หนี้ที่เกี่ยวกับสัญญาจ้างจำเลยจะหักไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้าง ๒,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามหนังสือของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.๒ นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยแสดงเจตนาโดยเฉพาะเจาะจงถึงการให้โจทก์มาทำงานกับจำเลยตามตำแหน่งและอัตราเงินเดือนที่แน่นอน หนังสือตามเอกสารหมาย จ.๒ ดังกล่าวจึงเป็นคำเสนอของจำเลยที่มีต่อโจทก์แล้ว ส่วนข้อความตอนท้ายของเอกสารหมาย จ.๒ ที่ว่า จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณานั้น ก็เป็นการให้โอกาสโจทก์ที่จะมีคำสนองต่อหรือไม่เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยแล้วจึงเป็นคำสนองของโจทก์ แต่การที่ต่อมาโจทก์ได้ทำใบสมัครกับจำเลยโดยกำหนดให้โจทก์ทดลองปฏบัติงานเป็นเวลา ๓ เดือน ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขขึ้นใหม่ โดยโจทก์มิได้ทักท้วงแต่อย่างใด เช่นนี้จึงมีผลเป็นว่าโจทก์จำเลยได้มีข้อตกลงกันใหม่โดยยกเลิกข้อตกลงเดิมนั้นแล้ว โจทก์จึงต้องถูกผูกพันตามข้อตกลงใหม่ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลย และโจทก์จะดำรงตำแหน่งใดในบริษัทจำเลยก็ตาม โจทก์ก็ยังคงมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานคนหนึ่ง หาใช่ว่าตำแหน่งที่โจทก์ดำรงอยู่เป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาแล้วจะมิใช่พนักงานของจำเลยไม่ ผู้ที่ไม่ต้องทดลองงานตามคำเบิกความของนายแพทย์รุ่งเรือง ได้แก่กรรมการของบริษัทจำเลยที่ทำงานในโรงพยาบาลด้วยนั้น ต้องมีความหมายเป็นว่าได้แก่กรรมการของบริษัท ซึ่งมีอำนาจจัดการตามข้อบังคับของบริษัทโดยอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๔๔ และกรรมการผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่อื่นเช่นพนักงานคนหนึ่งของบริษัทจำเลยด้วย กรณีเช่นนี้บุคคลผู้นั้นก็ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับโดยต้องทดลองปฏิบัติงานอีกเท่านั้น แต่กรณีของโจทก์โจทก์มิได้เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยด้วย แต่โจทก์เป็นเพียงพนักงานคนหนึ่ง เมื่อมีการกำหนดเงื่อนไขโดยโจทก์มิได้ทักท้วง โจทก์ก็ต้องผ่านการทดลองปฏิบัติงานตามข้อตกลงใหม่นี้ด้วย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกำหนดเงื่อนไขนั้น ได้มีการเพิ่มเติมเงื่อนไขดังกล่าวลงไว้ในใบสมัครงาน โดยนายแพทย์สมศักดิ์เป็นผู้เขียนเพิ่มเติมโดยพลการและได้กระทำลับหลังโจทก์อันเป็นการปลอมเอกสาร และนายแพทย์สมศักดิ์เบิกความกลับไปกลับมาบิดเบือนความจริงหลายประการ การกำหนดเงื่อนไขจึงเป็นการกระทำขึ้นภายหลังฝ่ายเดียว โจทก์จำเลยไม่เคยตกลงเงื่อนไขดังกล่าวต่อกันจึงไม่มีผลบังคับเห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อฟังได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย โดยอยู่ในระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานเป็นเวลา ๓ เดือน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างทดลองปฏิบัติงานได้โดยโจทก์จะอ้างงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมมิได้
พิพากษายืน

Share