คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การโดยกล่าวอ้างว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อไม่มีการจดทะเบียนย่อมเป็นโมฆะเช่นนี้ ปัญหาว่าโจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาได้หรือไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองจะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การหลังจากวันชี้สองสถานก็ย่อมกระทำได้ แต่ประเด็นเรื่องอายุความและฟ้องแย้งที่จำเลยขอแก้ไขคำให้การมาด้วยนั้น เห็นว่า วันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ และวันที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ล้วนปรากฏชัดเจนอยู่ในคำฟ้องซึ่งจำเลยทั้งสองก็ทราบเรื่องการทำสัญญามาตั้งแต่ต้น หากจำเลยทั้งสองมีความประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในประเด็นเรื่องอายุความย่อมกระทำได้ตั้งแต่แรก และในส่วนของฟ้องแย้งก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างถึงสัญญาซึ่งได้เคยทำไว้กับโจทก์มาก่อน จึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองทราบอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน หาใช่กรณีที่ไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ก่อนวันชี้สองสถานแต่อย่างใดไม่ ทั้งไม่ใช่การแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือข้อผิดหลงเล็กน้อยตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 180

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาการให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันกับโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองและแสวงหาประโยชน์จากสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกจากสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ ให้ยุติการใช้สถานีบริการน้ำมัน เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมกับส่งมอบสถานีบริการน้ำมัน เครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,442,543.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 948,702.66 บาท นับถัดจากเดือนที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากเดือนที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริการจะออกจากสถานีบริการน้ำมันพิพาทและส่งมอบสถานีบริการน้ำมันพิพาทคืนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่ได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับการทวงถาม โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาภายหลังการชี้สองสถานแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งว่าสัญญาการให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า ซึ่งต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อไม่มีการจดทะเบียนตามกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะ เมื่อสัญญาไม่มีผลผูกพันต่อกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ จากจำเลยทั้งสอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเดิมโจทก์เคยทำสัญญาในลักษณะเดียวกันนี้กับจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองได้ชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ ในการที่โจทก์สร้างสถานีบริการน้ำมันให้แก่จำเลยทั้งสอง ซึ่งโจทก์ได้สัญญาว่าจะให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการสถานีบริการน้ำมันแต่ผู้เดียวตลอดไป เมื่อโจทก์ปฏิเสธการจำหน่ายน้ำมันและผลิตภัณฑ์ให้แก่จำเลยทั้งสอง ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้บังคับโจทก์คืนเงินจำนวน 3,000,000 บาท แก่จำเลยทั้งสอง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ชี้สองสถานเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2548 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสอง โดยให้เหตุผลว่าคดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีการชี้สองสถานไปแล้ว พ้นระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองจะขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ประกอบกับเนื้อหาข้อต่อสู้ใหม่และฟ้องแย้ง จำเลยทั้งสองสามารถยกขึ้นต่อสู้ได้ตั้งแต่แรก แต่จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ และไม่รับคำฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สำหรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การในส่วนที่ว่า สัญญาการให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อไม่มีการจดทะเบียนตามกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามความผูกพันทางสัญญา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การโดยกล่าวอ้างว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า ซึ่งต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อไม่มีการจดทะเบียนตามกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะเช่นนี้ ปัญหาว่าโจทก์จะฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองให้ต้องรับผิดตามสัญญาได้หรือไม่จึงเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองจะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การหลังจากวันชี้สองสถาน ก็ย่อมกระทำได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่งประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ฟังขึ้น
สำหรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองในข้อที่ว่า เมื่อสัญญาไม่มีผลผูกพันต่อกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ตามฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้เรื่องความไม่สมบูรณ์ของสัญญา และมีสิทธิที่จะแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามข้อต่อสู้นี้ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของข้อ 2 ว่า “และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และค่าเสียหายหรือไม่ เพียงใด” โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะนำสืบถึงเรื่องความรับผิดในกรณีที่สัญญาจะมีผลผูกพันต่อกันหรือไม่อยู่แล้ว ไม่มีเหตุสมควรที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การในส่วนนี้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในประเด็นเรื่องอายุความและฟ้องแย้งนั้นเห็นว่าวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ และวันที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ล้วนปรากฏชัดเจนอยู่ในคำฟ้องโจทก์ จำเลยทั้งสองก็ทราบเรื่องการทำสัญญามาแต่ต้น หากจำเลยทั้งสองมีความประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในประเด็นเรื่องอายุความ ย่อมสามารถกระทำได้ตั้งแต่แรก และในส่วนของฟ้องแย้งก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างถึงสัญญาซึ่งได้เคยทำไว้กับโจทก์มาก่อน จึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองทราบอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน หาใช่กรณีที่ไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ก่อนวันชี้สองสถานแต่อย่างใดไม่ ทั้งไม่ใช่การแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การในส่วนที่เกี่ยวกับอายุความและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มคำให้การของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2548 เฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของสัญญาการให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไปนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share