แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลเดิมตัดสินจำเลยมีผิดฐานลักทรัพย์แลชิงทรัพย์ให้จำคุกคนหนึ่ง 3 ปี อีกคนหนึ่ง 4 ปี
ศาลอุทธรณ์แก้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์อย่างเดียวให้จำคุกจำเลยคนละ 3 เดือน เป็นแก้มาก
วิธีพิจารณาอาชญา อำนาจศาลอุทธรณ์จำเลยที่มิได้อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ไม่ควรยกความผิดของผู้นั้นขึ้นวินิจฉัย
ย่อยาว
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ล.กับพวก ๓ คน มีอาวุธเข้าไปในร้านเจ้าทรัพย์หยิบสุราไปคนละ ๒ ขวด แล้วพากันหนีไปโดยมิได้ทำร้ายหรือใช้วาจาหรือกิริยาขู่เข็ญประการใด ล.ออกไปถึงประตูร้านส่งสุรา ๒ ขวดให้ ต. ๆ หนีไป ส่วน ล.หันกลับเข้าร้าน เจ้าทรัพย์อีก เจ้าทรัพย์จึงเข้าจับตัว ล. ๆ พูดว่า “มึงจะปล่อยกูหรือไม่ ไม่ปล่อยกูยิงและควักปืนออกจากพก พวกเจ้าทรัพย์เข้าช่วยกันจับ ล.ได้ดังนี้
ศาลเดิมตัดสินว่า จำเลยมีผิดตาม ม. ๒๙๕ – ๒๙๙ ให้จำคุก ต. ๓ ปี จำคุก ล. ๖ปี แต่ลดโทษ ล. ตาม ม. ๕๙ เสีย ๑ ใน ๓ คงให้จำคุก ล. ๔ ปี
ต.ผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แก้ให้จำคุก ล.และ ต. คนละ ๖ เดือน ตาม ม. ๒๙๓ ลดโทษ ล.กึ่งหนึ่งตาม ม. ๕๙ คงจำคุก ล. ๓ เดือน นอกนั้นยืน
ศาลฎีกาเห็นว่าในตอนต้นจำเลยทั้งสองมีผิดฐานลักทรัพย์ตาม ม. ๒๙๕ ส่วน ล. ในตอนหลังมีผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ม. ๒๙๙ และคดีนี้ ล.มิได้อุทธรณ์ขึ้นมาเป็นอันยุติ เสร็จเด็ดขาดชั้นศาลเดิมแล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่ควรยกขึ้นวินิจฉัย จึงให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามศาลเดิม