แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปีอันเป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าขาดอายุความ และจำเลยได้ระบุในคำให้การว่า โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการแก่ลูกค้าโดยออกบัตรเครดิตให้ลูกค้านำบัตรไปใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าและโจทก์เป็นผู้ออกเงินทดรองจ่ายแทนลูกค้าจึงเป็นผู้ประกอบกิจการค้าได้ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไป จึงต้องฟ้องเรียกเงินทดรองคืนภายในกำหนดสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 อันเป็นการบรรยายถึงเหตุแห่งการนั้นแล้ว คำให้การของจำเลยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่ามีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องอายุความแล้ว
โจทก์เป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ ฟ้องเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไป สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความสองปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์จะแจ้งยอดหนี้ส่งให้จำเลยทราบในแต่ละงวดที่เรียกเก็บและให้ถือว่าหนี้ถึงกำหนดตามที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนดงวดใด โจทก์ก็อาจบังคับสิทธิเรียกร้องสำหรับงวดนั้นได้นับแต่วันที่จำเลยผิดนัด จึงต้องเริ่มนับอายุความสำหรับหนี้แต่ละงวดตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์โดยขอสินเชื่อบัตรเครดิตประเภทบัตรเครดิตไทยพาณิชย์-วอลโว่ และบัตรเครดิตไทยพาณิชย์-โรบินสัน ของโจทก์ จากนั้นจำเลยได้ใช้บัตรเครดิตไทยพาณิชย์-วอลโว่และบัตรเครดิตไทยพาณิชย์-โรบินสัน ชำระราคาสินค้าและค่าบริการจากร้านค้าและสถานบริการที่เป็นสมาชิกโจทก์ รวมทั้งเบิกถอนเงินสดจากโจทก์และธนาคารสมาชิกโจทก์หลายครั้ง แต่จำเลยไม่ชำระเงินคืนโจทก์ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนดในใบแจ้งยอดรายการบัตรเครดิตเมื่อโจทก์ทวงถามให้ชำระหนี้ จำเลยก็เพิกเฉย โจทก์จึงคิดค่าปรับจากจำเลยในอัตราร้อยละ 2 ของยอดหนี้ที่ค้างชำระ นับถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามบัตรเครดิตทั้งสองมาตลอดจนกระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม 2539 และวันที่ 7 กันยายน 2539 สำหรับบัตรเครดิตไทยพาณิชย์-โรบินสัน และสำหรับบัตรเครดิตไทยพาณิชย์-วอลโว่ ตามลำดับหลังจากนั้นโจทก์งดคิดค่าปรับในยอดหนี้ค้างชำระจากจำเลย แต่คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปีของยอดหนี้ที่ค้างชำระตามบัตรเครดิตทั้งสองแทนคิดถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระหนี้ตามบัตรเครดิตไทยพาณิชย์-วอลโว่เป็นต้นเงิน80,599.95 บาท ค่าปรับรวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 34,154.85 บาท และดอกเบี้ย 12,788.82 บาท ส่วนบัตรเครดิตไทยพาณิชย์-โรบินสัน จำเลยค้างชำระต้นเงินจำนวน 106,950.39 บาท ค่าปรับรวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน35,237.53 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 18,741.17 บาท รวมยอดหนี้ตามบัตรเครดิตทั้งสองคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 288,472.71 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี จากต้นเงิน187,550.34 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการค้าออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไป ต้องฟ้องเรียกเงินทดรองจ่ายคืนภายในกำหนดสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าวคดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกมีว่า คำให้การของจำเลยมีประเด็นเรื่องอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยจะต้องให้การโดยระบุว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความเมื่อใด นับแต่เมื่อใด การที่จำเลยให้การโดยมิได้บรรยายว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความเมื่อใด นับแต่วันใด จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความให้วินิจฉัยเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นซึ่งคดีนี้จำเลยให้การว่า โจทก์ต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี อันเป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าขาดอายุความแล้ว ส่วนเหตุที่ฟ้องภายในอายุความ2 ปี นั้น จำเลยได้ระบุในคำให้การว่า โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการแก่ลูกค้าโดยออกบัตรเครดิตให้ลูกค้านำบัตรไปใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าและโจทก์เป็นผู้ออกเงินทดรองจ่ายแทนลูกค้า จึงเป็นผู้ประกอบกิจการค้าได้ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไป จึงต้องฟ้องเรียกเงินทดรองคืนภายในกำหนดสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 อันเป็นการบรรยายถึงเหตุแห่งการนั้นแล้ว คำให้การของจำเลยจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง และถือว่ามีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องอายุความแล้ว
ปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยในประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์ให้สินเชื่อบัตรเครดิตแก่จำเลยนั้นเป็นกรณีที่โจทก์ให้สินเชื่อประเภทหนึ่งแม้จะมีการถอนเงินสดด้วยก็เป็นบริการหลักสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตที่โจทก์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมก็เป็นบำเหน็จที่เกิดจากการให้สินเชื่ออีกทั้งการที่โจทก์ชำระเงินให้จำเลยในกรณีที่จำเลยเบิกเงินสด ก็ไม่ใช่เป็นการทดรองจ่ายแทนจำเลยแต่อย่างใด เพราะจำเลยเบิกเงินสดจากโจทก์โดยตรง จึงไม่มีแต่หนี้ที่โจทก์ออกทดรองแต่เพียงอย่างเดียว มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงรวมเอาหนี้เบิกเงินสดและหนี้อันเกิดจากการใช้เงินทดรองแทนจำเลยได้ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้เนื่องจากมีลักษณะเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญา ซึ่งหนี้ตามลักษณะดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความสิบปี เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ประกอบธุรกิจมีวัตถุประสงค์ให้บริการแก่ลูกค้าของโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกในรูปของบัตรเครดิตไทยพาณิชย์-วอลโว่ และบัตรเครดิตไทยพาณิชย์-โรบินสันโดยสมาชิกสามารถนำไปชำระสินค้าและค่าบริการต่าง ๆ แทนเงินสดให้แก่ร้านค้าหรือสถานที่ให้บริการที่เป็นสมาชิกของโจทก์หรือใช้บัตรเครดิตดังกล่าวเบิกเงินสดจากธนาคารโจทก์หรือธนาคารอื่นที่เป็นสมาชิกร่วมกับโจทก์โดยจำเลยตกลงจะปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนด การใช้บัตรเครดิตของโจทก์ซึ่งการให้บริการต่าง ๆ ดังกล่าวแก่สมาชิกของโจทก์ โจทก์ได้เรียกค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีด้วย โจทก์จึงเป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆให้แก่สมาชิก การที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังรวมทั้งค่าปรับและดอกเบี้ยในกรณีที่สมาชิกไม่ชำระให้นั้น เป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปการที่โจทก์ชำระเงินให้จำเลยในกรณีที่จำเลยเบิกเงินสดหรือมีการถอนเงินสดล่วงหน้าจากบัญชีเงินฝากของสมาชิกที่ธนาคารโจทก์หรือธนาคารอื่นที่เป็นสมาชิกร่วมกับโจทก์ โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติซึ่งสมาชิกจะต้องเสียค่าบริการให้แก่โจทก์ด้วย หรือมูลหนี้ตามบัตรเครดิตทั้งสองประเภทเป็นหนี้ที่จำเลยใช้ร่วมกับบัญชีเดินสะพัดก็ตาม ถือว่าเป็นการให้บริการความสะดวกแก่บัตรเครดิตของโจทก์อันเป็นการจูงใจเพื่อให้บุคคลทั่วไปจะได้เข้ามาเป็นสมาชิกของโจทก์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไปจากจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไป สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) อีกทั้งตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์จะแจ้งยอดหนี้ส่งให้จำเลยทราบในแต่ละงวดที่เรียกเก็บและให้ถือว่าหนี้ถึงกำหนดตามที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้กรณีเช่นนี้เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนดงวดใดโจทก์ก็อาจบังคับสิทธิเรียกร้องสำหรับงวดนั้นได้นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดจึงต้องเริ่มนับอายุความสำหรับหนี้แต่ละงวดตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัด ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตไทยพาณิชย์-วอลโว่ วันสุดท้ายวันที่ 23 ธันวาคม 2537หนี้ทั้งหมดของจำเลยตามบัตรเครดิตดังกล่าวถึงกำหนดชำระในวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2538 ตามใบแจ้งยอดรายการบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.15บัตรเครดิตไทยพาณิชย์-โรบินสัน วันสุดท้ายวันที่ 13 เมษายน 2538 หนี้ทั้งหมดของจำเลยตามบัตรเครดิตถึงกำหนดชำระในวันที่ 8 พฤษภาคม2538 ตามใบแจ้งยอดรายการบัตรเครดิต เอกสารหมาย จ.35 ดังนั้นหากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมถือว่า จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดโจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้คือ สำหรับบัตรเครดิตไทยพาณิชย์-วอลโว่ ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 บัตรเครดิตไทยพาณิชย์-โรบินสัน ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2538 โจทก์มาฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามบัตรเครดิตไทยพาณิชย์-วอลโว่ และบัตรเครดิตไทยพาณิชย์-โรบินสันเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 อันมีระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ”
พิพากษายืน