คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ในขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมจะเป็นเจ้าของที่ดินและจำเลยตกลงว่าจะไม่รบกวนการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินโดยยอมรับเงินจำนวนหนึ่งไปจากโจทก์ร่วมเป็นค่าตอบแทนก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยเคยอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อน และยังไม่พ้นไปจากการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ฉะนั้นการที่จำเลยเข้าไปปลูกต้นไม้รวมทั้งขัดขวางมิให้โจทก์ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินในเวลาต่อมาถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากที่เคยทำ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาเท่านั้น หาเป็นความผิดฐานบุกรุกไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362,365, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทบางนารีสอร์ท จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(2) ประกอบด้วยมาตรา 362 ให้จำคุก 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1677 ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการตามเอกสารหมาย จ.4 เดิมมีเนื้อที่ 43 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวาด้านทิศตะวันออกติดคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตเมื่อ พ.ศ. 2471เจ้าของเดิมขายให้แก่ทางราชการตามแนวชายคลอง 5 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวาคงเหลืออยู่ 37 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา กรมชลประทานเป็นผู้ดูแลรักษาคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตและคลองอื่น ๆ รวมทั้งแนวเขตที่ดินชายคลองที่ซื้อจากราษฎรนั้นด้วย เมื่อ พ.ศ. 2530 โจทก์ร่วมซื้อที่ดินแปลงนี้จากนางสำรวย จอมขวัญใจ และนางอารีย์ สงวนพันธุ์เจ้าของคนสุดท้ายก่อนหน้านั้นครั้นเมื่อโจทก์ร่วมจะเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน ปรากฏว่าจำเลยและครอบครัวทำนาอยู่ในที่ดินดังกล่าวและมีบ้านปลูกอยู่ในที่ดินอีกแปลงหนึ่งทางด้านทิศใต้ในโฉนดเลขที่ 2502 จำเลยขัดขวางมิให้โจทก์ร่วมเข้าทำประโยชน์ มีการตกลงกันตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งมีใจความว่า จำเลยจะไม่ขัดขวางการที่โจทก์ร่วมจะเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลง โดยโจทก์ร่วมจ่ายเงินให้จำเลยจำนวนหนึ่งหลังจากที่จำเลยได้รับเงินแล้วยังคงอยู่ที่บ้านและเข้าปลูกต้นไม้บนคันดินที่เกิดเหตุในระหว่างวันที่15 ถึง 30 กันยายน 2531 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากข้อนำสืบของทั้งสองฝ่ายว่าจำเลยกับพวกเข้าไปปลูกต้นไม้ในที่เกิดเหตุจริงโดยโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่าที่เกิดเหตุเป็นคันดินที่โจทก์ร่วมทำขึ้นเพื่อกั้นน้ำจากคลองและเป็นการแสดงแนวเขตที่ดินที่โจทก์ร่วมซื้อมา ส่วนจำเลยนำสืบว่าที่เกิดเหตุอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ร่วมแต่เป็นเขตที่กรมชลประทานซื้อไว้จากเจ้าของเดิม จำเลยเคยทำนาและเลี้ยงปลาในที่ดินดังกล่าว คันดินดังกล่าวเป็นคันดินของบ่อปลาจำเลยเห็นว่า การที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินที่โจทก์ร่วมซื้อมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงต้องพิเคราะห์ต่อไปว่าจำเลยเคยทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1677 จริงหรือไม่ ซึ่งจากเอกสารหมาย จ.5 ที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย แสดงว่าโจทก์ร่วมยอมรับว่าจำเลยกับครอบครัวอยู่อาศัยในที่ดินทั้งสองแปลงนี้มาก่อนไม่ว่าจะเป็นการปลูกบ้านอยู่อาศัยหรือใช้ประกอบอาชีพเมื่อเป็นที่ดินที่จำเลยเคยใช้อยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อมาเมื่อที่ดินตกเป็นของโจทก์ร่วม แม้จำเลยยอมรับว่าจะไม่รบกวนการเข้าทำประโยชน์โดยยอมรับเงินจากโจทก์ร่วมเป็นการตอบแทนตามเอกสารหมาย จ.5การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินทั้งสองแปลงนี้ก็ดี หรือการที่ยังคงทำประโยชน์ในที่ดินนั้นรวมทั้งขัดขวางมิให้โจทก์ร่วมเข้าทำประโยชน์ก็ดี เป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้เท่านั้น การปลูกต้นไม้ในที่เกิดเหตุก็เป็นการทำประโยชน์ในที่ดินประการหนึ่ง เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่าจำเลยพ้นจากการครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 1677ไปอย่างเด็ดขาดแล้วจึงกลับเข้าไปทำอีก การทำประโยชน์ในที่ดินจึงเป็นการกระทำต่อเนื่องจากที่เคยทำ การที่จำเลยเข้าไปปลูกต้นไม้ในที่เกิดเหตุจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดและลงโทษมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share