คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1432/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อฟ้องบรรยายว่าโจทก์เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ได้กล่าวถึงเหตุที่จำเลยได้กระทำละเมิดอันเป็นบุตรโจทก์ถึงแก่กรรมโดยชัดแจ้ง ทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะ และได้เรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ย่อมถือว่าคำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัด ซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่น ว่านั้นแล้ว จึงเป็นที่สมบูรณ์ ส่วนค่าสินไหมทดแทนควรจะเป็นเท่าใด หากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะได้อุปการะโจทก์อย่างไรบ้างนั้น เป็นเพียงรายละเอียดและอาจคาดหมายได้ ศาลย่อมกำหนดให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งไม่จำต้องกล่าวไว้โดยละเอียดในฟ้อง
การที่ไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยที่ 4 มิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ในการวางสายไฟฟ้านั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะไปว่ากล่าวกันเอง เมื่อได้ความว่าเหตุที่บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายนั้น เนื่องจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ตัดสารโทรเลขตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เช่นกัน และเป็นไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ทำให้เสาโทรเลขล้มลง สายโทรเลขช่วงถัดไปหย่อนไปแตะกับสายไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าไหลตามสายโทรเลขต้นที่ล้มลงไปในคูน้ำและเป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้านั้นช๊อตบุตรโจทก์ตาย จำเลยที่ 1 จะปัดความรับผิดไม่ได้
แม้ตามฐานะโจทก์ไม่จำต้องพึ่งผู้ตายก็ตาม แต่ขณะเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองเป็นผู้เยาว์ยังอยู่ในระหว่างที่โจทก์ให้อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา และโจทก์ก็หวังผู้ตายเป็นที่พึ่งของโจทก์ในภายหน้า ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1535 บัญญัติว่า บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดานั้น มิได้หมายความว่าเมื่อบิดามารดามีรายได้เลี้ยงชีพของตนเองแล้ว หน้าที่ของบุตรที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาจะหมดสิ้นไปเมื่อบุตรโจทก์ถึงแก่กรรมเพราะการละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๒,๓ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๔ เป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งการไฟฟ้าจังหวัดสุโขทัยเป็นกิจการของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ ได้ขึงไฟฟ้าโดยความประมาทและผิดระเบียบการขึงสายไฟฟ้า โดยเอาสายไฟฟ้าขึงเกาะไว้ส่วนล่างของสายโทรเลขของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ทราบแต่มิได้ทักท้วง ต่อมาจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติราชการให้จำเลยที่ ๑ในทางการที่จ้าง ได้สั่งให้จำเลยที่ ๓ ไปเก็บสายโทรเลขที่ขึงไว้ จำเลยที่ ๓ ได้ตัดสายโทรเลขขาดเป็นเหตุให้เสาโทรเลขล้มลงไปแช่อยู่ในคูน้ำหลังบ้านโจทก์ สายโทรเลขที่อยู่กับเสาต้นถัดไปจึงหย่อนแตะกับสายไฟฟ้าของจำเลยที่ ๔ เป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้าไหลไปตามสายโทรเลขที่แช่อยู่ในคูน้ำ เป็นเหตุให้บุตรโจทก์ ๒ คนถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคุลม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เหตุที่ไฟฟ้าช๊อตเป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ที่ขึงสายไฟฟ้าไว้กับเสาโทรเลขอันเป็นการผิดระเบียบของทางราชการ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เหตุที่บุตรโจทก์ตายเป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ ๑,๒ และ ๓ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าปลงศพ แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๔ ที่ ๕
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อฟ้องบรรยายว่าโจทก์เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ได้กล่าวถึงเหตุที่จำเลยได้กระทำละเมิดอันเป็นบุตรโจทก์ถึงแก่กรรมโดยชัดแจ้ง ทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะ และได้เรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ย่อมถือว่าคำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัด ซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่น ว่านั้นแล้ว จึงเป็นที่สมบูรณ์ ส่วนค่าสินไหมทดแทนควรจะเป็นเท่าใด หากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะได้อุปการะโจทก์อย่างไรบ้างนั้น เป็นเพียงรายละเอียดและอาจคาดหมายได้ ศาลย่อมกำหนดให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งไม่จำต้องกล่าวไว้โดยละเมิดในฟ้อง
การที่ไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยที่ ๔ มิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๔ ในการวางสายไฟฟ้านั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะไปว่ากล่าวกันเอง เมื่อได้ความว่าเหตุที่บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายนั้น เนื่องจากจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ได้ตัดสายโทรเลขตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ เช่นกัน และเป็นไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ ทำให้เสาโทรเลขล้มลง สายโทรเลขช่วงถัดไปหย่อนไปแตะกับสายไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าไหลตามสายโทรเลขต้นที่ล้มลงไปในคูน้ำและเป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้านั้นช๊อตบุตรโจทก์ตาย จำเลยที่ ๑ จะปัดความรับผิดไม่ได้
สำหรับค่าขาดไร้อุปการะนั้น แม้ตามฐานะโจทก์ไม่จำต้องพึ่งผู้ตายก็ตาม แต่ขณะเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองเป็นผู้เยาว์ยังอยู่ในระหว่างที่โจทก์ให้อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา และโจทก์ก็หวังผู้ตายเป็นที่พึ่งของโจทก์ในภายหน้า ซึ่งตามที่กฎหมายได้บัญญัติว่า บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดานั้น มิได้หมายความว่าเมื่อบิดามารดามีรายได้เลี้ยงชีพของตนเองแล้ว หน้าที่ของบุตรที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาจะหมดที่กฎหมายบัญญัติไว้จะหมดสิ้นไป เมื่อบุตรโจทก์ถึงแก่กรรมเพราะการละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิด
พิพากษายืน

Share