คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 429-438/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การได้มาซึ่งที่ดินตามพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าวและตามประมวลกฎหมายที่ดินนั้น หาได้หมายความแต่เฉพาะการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างเดียวไม่ แต่ยังหมายถึงการได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในฐานะเจ้าของด้วย
การที่คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดินโดยฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว เป็นความผิดอันเกิดขึ้นครั้งหนึ่งคราวเดียว หาใช่เป็นความผิดต่อเนื่องกันไม่ ฉะนั้น อายุความฟ้องร้องคดีจึงต้องเริ่มนับหนึ่งแต่วันที่จำเลยกระทำการได้มาซึ่งที่ดินโดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเป็นความเดียวกันทั้ง ๑๐ สำนวนว่า จำเลยเป็นคนต่างด้าว ได้มาและครอบครองที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยทุกสำนวนให้การรับสารภาพ แต่ต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทุกสำนวนมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘๖, ๑๑๑ ให้ปรับจำเลยคนละ ๕๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ ๒๕๐ บาท
จำเลยทุกสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๘๖ นั้น ความในมาตรา ๕ ซึ่งบัญญัติเป็นใจความว่า คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินได้ ก็ด้วยอาศัยบทสนธิสัญญา ซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้นั้น หาได้มีความหมายจำกัดเฉพาะแต่ว่าการได้มานั้นจะต้องเป็นการได้กรรมสิทธิ์เสมอไปไม่ เพราะความหมายในกฎหมายมีว่า คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินด้วยประการใดก็ตาม คนต่างด้าวจะต้องเป็นคนของประเทศซึ่งมีบทสนธิสัญญาให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ ฉะนั้น การได้มาจึงมิได้มีความหมายเฉพาะได้กรรมสิทธิ์ อนึ่ง แม้ในกรณีที่มีบทสนธิสัญญาบัญญัติให้คนต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ คนต่างด้าวนั้นก็อาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินกอ่นแล้วจึงมาได้กรรมสิทธิ์ในภายหลังก็ได้ ต่อจากนี้ก็มีมาตรา ๖, ๗ และ ๘ ว่าคนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์บางประการได้ตามข้อกำหนดในกฎหมาย และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานจะอนุญาตได้ไม่เกินอัตราชั้นสูง ผู้รับอนุญาตต้องใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์แห่งกิจการนั้น ทั้งหมดนี้แสดงความหมายว่า ใช้ถึงสิทธิครอบครองก็ได้ด้วย
หาใช่เฉพาะกรรมสิทธิ์เท่านั้นไม่
อาศัยเหตุดังกล่าวมา ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า การได้มาซึ่งที่ดินตามพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าวและตามประมวลกฎหมายที่ดิน หมายถึงการได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในฐานะเจ้าของด้วย หาได้หมายความแต่เฉพาะการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างเดียวไม่นั้น ชอบแล้วฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนในข้ออายุความนั้นเห็นว่า การได้มานั้นเป็นกรรมหรือการกระทำอันหนึ่งซึ่งเมื่อจำเลยกระทำลงสำเร็จแล้ว กรรมนั้นก็ย่อมยุติลง ผลที่เกิดขึ้นคือที่จำเลยครอบครองที่ดินต่อเนื่องมานั้น เป็นเพียงผลของกรรม หาใช่ตัวกรรมนั้นไม่ อีกประการหนึ่ง กฎหมายใช้ความว่า คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน กฎหมายไม่ได้ใช้ความว่า คนต่างด้าวมีอยู่ซึ่งที่ดิน ซึ่งทำให้เห็นชัดขึ้นว่า การได้มาเป็นกรรมหรือการกระทำครั้งหนึ่งคราวเดียว ต่างกับการมีอยู่ซึ่งที่ดินอันเป็นกรรมที่ต่อเนื่องกันไปตลอดเวลาที่มีอยู่นั้น ฉะนั้น การได้มาซึ่งที่ดินโดยฝ่าฝืนกฎหมายนี้จึงเป็นความผิดอันเกิดขึ้นครั้งหนึ่งคราวเดียว หาใช่เป็นความผิดต่อเนื่องกันไม่ อายุความฟ้องร้องคดีจึงต้องเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่จำเลยคนหนึ่งกระทำการได้มาซึ่งที่ดินโดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นต้นไป จึงเห็นว่าคดีเป็นอันขาดอายุความฟ้องร้องทุกสำนวน
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share