แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35 วรรคแรกและมาตรา 39 ประกอบด้วยข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานฯ ข้อ 2 และ ข้อ 9 แสดงว่าการที่จำเลยมีสิทธิให้การด้วยวาจานั้นกฎหมายมิได้ถือเคร่งครัดเช่นการให้การเป็นหนังสือในคดีแพ่งธรรมดา ทั้งนี้เพื่อให้คดีได้เสร็จสิ้นไปโดยรวดเร็วตามเจตนารมณ์ของวิธีพิจารณาคดีแรงงานดังนั้น ที่จำเลยให้การต่อศาลแรงงานกลางด้วยวาจา ซึ่งศาลแรงงานกลางได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า คำฟ้องอื่นของโจทก์ไม่เป็นความจริง และจำเลยขอปฏิเสธว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นการเพียงพอที่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่แล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุด ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชย
จำเลยให้การด้วยวาจาโดยศาลแรงงานกลางบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยยังมิได้จ่ายค่าจ้างที่ค้างให้โจทก์จริง ส่วนคำฟ้องอื่นของโจทก์ไม่เป็นความจริง จำเลยจึงขอปฏิเสธว่าไม่ได้ทำผิดตามฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์สมัครใจออกจากงานโดยจำเลยมิได้เลิกจ้าง เงินต่าง ๆ นอกจากค่าจ้างค้างจ่ายโจทก์นำสืบให้รับฟังไม่ได้ตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522นี้ ก็เนื่องจากคดีแรงงานเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากคดีแพ่งทั่วไป เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานหรือเกี่ยวกับสิทธิของนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์การดำเนินคดีควรเป็นไปด้วยความสะดวก ประหยัด รวดเร็ว เสมอภาคและเป็นธรรมเพื่อให้คู่ความมีโอกาสประนีประนอมยอมความและสามารถกลับไปทำงานร่วมกันโดยไม่เกิดความรู้สึกเป็นอริต่อกัน จำเป็นต้องยกเว้นขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหลายกรณีด้วยกันเพื่อให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าคดีแรงงานคดีใดจะมีทุนทรัพย์สูงเพียงใด หรือมีประเด็นข้อพิพาทที่ยุ่งยากเพียงใดก็ตาม คู่ความก็มีสิทธิฟ้องหรือให้การด้วยวาจาได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35 วรรคแรก และมาตรา 39วรรคแรกประกอบด้วยข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2523 ข้อ 2 และข้อ 9 ซึ่งแสดงว่า การที่จำเลยมีสิทธิให้การด้วยวาจานั้นกฎหมายมิได้ถือเคร่งครัดเช่นการให้การเป็นหนังสือในคดีแพ่งธรรมดา ทั้งนี้เพื่อให้คดีได้เสร็จสิ้นไปด้วยความรวดเร็วตามเจตนารมณ์ของวิธีพิจารณาคดีแรงงานดังที่ได้ยกขึ้นกล่าวข้างต้น ดังนั้น ที่จำเลยให้การต่อศาลแรงงานกลางด้วยวาจาซึ่งศาลแรงงานกลางได้บันทึกไว้ในรายการกระบวนพิจารณาว่าคำฟ้องอื่นของโจทก์ไม่เป็นความจริงและจำเลยขอปฏิเสธว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นการเพียงพอที่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยนำสืบตามประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.