แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างต่อเติมอาคารจาก 3 ชั้นเป็น 5 ชั้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีทางเดินหลังอาคารและแนวอาคารไม่ร่นหลบแนวเขตถนน จึงเป็นการก่อสร้างอาคารโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ โจทก์จึงมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารได้ตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติ ญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคสองกำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโดยมิชักช้าและต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างแต่คำสั่งให้รื้อถอนอาคารที่ออกภายหลังคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างเกินกว่า 30 วัน ก็ไม่ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่สามารถแก้ไขดัดแปลงให้ถูกต้องหมดไป โจทก์จึงมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างได้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและอาคารพิพาท เมื่อโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยที่ 4 ทำการรื้อถอน ย่อมถือว่าได้มีคำสั่งแจ้งให้เจ้าของที่ดินและอาคารดังกล่าวทราบโดยไม่ต้องแจ้งเจ้าของร่วมทุกคนทราบ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของตึกแถวเลขที่ 130/6ตรอกเนาวรัตน์ ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ให้จำเลยที่ 1 ดัดแปลงอาคารจากเดิม3 ชั้นเป็น 5 ชั้นครึ่ง โดยไม่มีทางเดินหลังอาคารและก่อสร้างไม่หลบแนวเขตถนน และไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบและมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างแต่จำเลยที่ 1 ไม่เชื่อฟัง ต่อมาเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายมีคำสั่งให้จำเลยที่ 4 รื้อถอน จำเลยที่ 4 เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าวถ้าจำเลยไม่รื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ไม่ใช่ผู้ครอบครองอาคาร และไม่เคยให้จำเลยที่ 1ก่อสร้างต่อเติม การต่อเติมจาก 3 ชั้น เป็น 5 ชั้นครึ่งมีความแข็งแรงมั่นคง เป็นการต่อเติมเล็กน้อยไม่ต้องขออนุญาตไม่ขัดต่อกฎกระทรวงและข้อบัญญัติท้องถิ่น หากขัดก็แก้ไขให้ถูกต้องได้ คำสั่งให้รื้อเกินกำหนด 30 วันนับแต่วันที่สั่งระงับการก่อสร้าง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนอาคารตั้งแต่ชั้นที่ 4 ขึ้นไปออกให้หมด ถ้าจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนเอง โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยประเด็นเดียวว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ก่อสร้างต่อเติมอาคารจาก 3 ชั้นเป็น 5 ชั้น โดยไม่ได้รับอนุญาตไม่มีทางเดินด้านหลังอาคารและแนวอาคารไม่ร่นหลบแนวเขตถนน ซึ่งเป็นการก่อสร้างต่อเติมอาคารโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 และฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ โจทก์จึงมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42วรรคหนึ่ง
ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทเนื่องจากโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทภายหลังจากมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างเกิน 30 วันแล้วอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40วรรคสอง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจะได้กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโดยมิชักช้าและต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารก็ตาม แต่คำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทที่ออกภายหลังคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างเกินกว่า 30 วัน ก็ไม่ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการที่จะสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทที่ต่อเติมดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่สามารถแก้ไขดัดแปลงให้ถูกต้องหมดไป โจทก์จึงมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างได้
จำเลยทั้งสี่ฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์สั่งให้จำเลยที่ 4แต่ผู้เดียวทำการรื้อถอนอาคารพิพาท ไม่ได้สั่งให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ทำการรื้อถอนด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 3 ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและอาคารพิพาท เมื่อโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยที่ 4ทำการรื้อถอนอาคารพิพาทแล้ว ย่อมถือได้ว่าได้มีคำสั่งแจ้งให้เจ้าของที่ดินและอาคารพิพาททราบ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าของร่วมทุกคนทราบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3ด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้ยื่นคำแก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.