คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยซื้อ ที่ดิน พิพาทซึ่ง มี น.ส. 3 จากโจทก์โดย มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก และ 115 แต่ ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยฐาน เป็นนิติกรรมอย่างอื่นได้ ตาม มาตรา 136 กรณีปรากฏว่าโจทก์ได้ มอบการครอบครองที่ดิน พิพาทให้จำเลยแล้วซึ่ง กระทำได้ ตามมาตรา 1378 ตาม พฤติการณ์สันนิษฐานได้ ว่าคู่กรณีตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นสัญญาโอนการครอบครองโดย มี ค่าตอบแทน ดังนี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้อง มีหนังสือมาแสดง ศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารได้ ไม่ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกกับจำเลยสำนวนหลังเป็นโจทก์ เรียกจำเลยสำนวนแรกกับโจทก์สำนวนหลังเป็นจำเลย โจทก์ฟ้องสำนวนแรกและให้การในสำนวนหลังทำนองเดียวกันรวมใจความว่า บิดามารดาโจทก์ได้ยกที่ดินแปลงหนึ่งให้โจทก์เนื้อที่ 44 ไร่ เมื่อ พ.ศ. 2511 ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เจ้าพนักงานที่ดินได้ไปทำการรังวัดซึ่งขณะนั้นโจทก์ทำนาอยู่ 21 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา เจ้าพนักงานที่ดินจึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ในเนื้อที่เพียงเท่าที่โจทก์ทำนา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2513 โจทก์ได้กู้ยืมเงินจำเลยจำนวน 4,000 บาท โดยมอบ น.ส.3 ดังกล่าวให้จำเลยยึดถือไว้ แล้วส่งมอบที่ดินทั้ง 44 ไร่ ให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยโดยตกลงกับจำเลยว่า หากโจทก์มีเงิน 4,000 บาทเมื่อใด จะไถ่ที่นาคืน ครั้นเดือนตุลาคม 2527 โจทก์ไปขอไถ่ที่นาคืน จำเลยอ้างว่าโจทก์ขายให้จำเลยแล้ว หากโจทก์จะเอาคืนก็จะขายให้ในราคา 150,000 บาท ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยให้รับชำระเงิน 4,000 บาท จากโจทก์ คืนที่นาและ น.ส.2 เล่ม 2 หน้า 85 สารบบเล่มเลขที่ 71 แก่โจทก์ ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์อีกต่อไป
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การสำนวนแรกและฟ้องสำนวนหลังทำนองเดียวกันรวมใจความว่า จำเลยไม่เคยให้โจทก์กู้ยืมเงิน เมื่อ พ.ศ.2513 โจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 เนื้อที่ 21 ไร่เศษให้แก่จำเลยในราคา 20,000 บาท แต่ยังไม่ทันจดทะเบียนโอนกันตามกฎหมายโจทก์ก็อพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่น จำเลยได้เข้าครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเรื่อยมาเป็นเวลา 15-16 ปีแล้วและจำเลยได้ก่นสร้างเพิ่มเติมจนมีเนื้อที่ 44 ไร่ โดยโจทก์ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกเลย หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยก็ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลา 15-16 ปีโจทก์เพิ่งมาฟ้องเรียกคืนการครอบครองจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าที่ดิน น.ส.3 เป็นของจำเลย ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับบังคับให้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อำเภอคงให้แก่จำเลย หากโจทก์ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตจาแทนโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์กับให้โจทก์ไปจดทะเบียนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทะเบียนเล่ม 2 หน้า85 สารบบเล่มเลขที่ 71 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เป็นชื่อของจำเลย หากโจทก์ไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของจำเลยที่ให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดิน ตาม น.ส.3 ทะเบียนเล่ม 2 หน้า 85 สารบบเล่มเลขที่ 71 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมาให้แก่จำเลยเสีย นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “… พฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ตามที่จำเลยนำสืบจริง ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยตามที่จำเลยนำสืบ ที่โจทก์อ้างว่าได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยเพื่อให้ทำกินต่างดอกเบี้ยนั้นไม่มีเหตุผล เพราะหากมอบให้ทำกินต่างดอกเบี้ยจริงแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมอบ น.ส.3 และแบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ ให้จำเลยไว้เป็นประกันการชำระหนี้อีกที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้มอบ น.ส.3และแบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้นั้น จึงฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยอ้างว่าได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากโจทก์ จำเลยไม่มีหนังสือสัญญาซื้อขายมาแสดง แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารว่า ได้มีการซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริงซึ่งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้นศาลฎีกาเห็นว่าแม้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก และมาตรา115 ก็ตาม แต่ตามมาตรา 136 บัญญัติว่า “การใดเป็นโมฆะกรรมแต่เข้าแบบเป็นนิติกรรมอย่างอื่นโมฆะกรรมนั้นท่านว่าย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยฐานเป็นนิติกรรมอย่างอื่นนั้น หากเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมที่คู่กรณีได้รู้ว่าการตามจำนงนั้นไม่สมบูรณ์ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นอย่างหลังนี้” คดีนี้ที่ดินพิพาทที่ซื้อขายกันยังไม่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์มีเพียง น.ส.3 ซึ่งผู้ขายมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น การโอนการครอบครองย่อมทำได้โดยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1378 และพฤติการณ์เป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมที่โจทก์กับจำเลยได้รู้ว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นสัญญาโอนการครอบครองโดยมีค่าตอบแทน ดังจะเห็นเจตนาได้จากผู้ขายได้มอบที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ซื้อในวันทำสัญญาซื้อขาย กรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีหนังสือมาแสดงจำเลยจึงนำพยานบุคคลมาสืบและศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
พิพากษายืน.

Share