คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา89(6) กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำและทางระบายน้ำ เมื่อคลองลาดยาวเป็นทางระบายน้ำอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครการที่จำเลยถมและปิดกั้นทางระบายน้ำดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของกรุงเทพมหานครโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
การที่ศาลพิพากษาว่า การรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างและขุดดินส่วนที่มีการถม หากจำเลยไม่ปฏิบัติก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนและขุดดินออกเองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายนั้น เมื่อระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 10)พ.ศ. 2527 ออกใช้บังคับ โดยเพิ่มมาตรา 296 ทวิ ว่าในกรณีนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จัดการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองทรัพย์ดังกล่าว ดังนั้นโจทก์จึงชอบที่จะร้องต่อศาลให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขุดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออก จะให้โจทก์รื้อถอนเองโดยให้ศาลบังคับให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายหาได้ไม่.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บุกรุกและครอบครองคลองลาดยาว อยู่ที่แขวงลาดยาวเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ร่วมกันซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ โดยจำเลยได้ใช้ดินถมคลองทั้งสองด้านทำให้ร่องน้ำแคบ สร้างกำแพงคอนกรีตลงในคลอง สร้างรั้วตาข่ายเหล็กถาวรปิดกั้นคลอง และต่อชานบ้านรุกล้ำเข้าไปในคลอง รวมทั้งปลูกต้นไม้สร้างสะพานไม้ถาวรข้ามร่องน้ำดังกล่าว ขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากคลองลาดยาวและขุดดินออกจากคลองที่จำเลยถมและครอบครอง และทำให้คลองกลับสู่สภาพเดิมหากจำเลยไม่ปฏิบัติ โจทก์ขอรื้อถอนและขุดดินออกเองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้บุกรุกและก่อสร้างสิ่งต่าง ๆอันเป็นการครอบครองคลองลาดยาวดังโจทก์ฟ้อง คลองดังกล่าวกว้างเพียง 2-3 เมตร จำเลยมีที่ดินอยู่สองฝั่งคลอง ที่ชายตลิ่งพังลงคลอง จำเลยจึงขุดลอกคลองให้กว้างและลึกกว่าที่เป็นอยู่ จำเลยไม่ได้ต่อชานบ้านและสร้างบ้านรุกล้ำเข้าไปในคลอง สะพานข้ามคลองเป็นสะพานไม้ธรรมดาไม่ใช่สะพานถาวร จำเลยสร้างเพื่อเป็นทางติดต่อระหว่างที่ดินของจำเลยโดยสุจริต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกจากคลองลาดยาว และขุดดินส่วนที่มีการถมและจำเลยครอบครองออกจากคลองลาดยาวและทำให้คลองกลับสู่สภาพเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนและขุดดินออกเองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 มาตรา 66 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นบัญญัติว่า’นอกจากอำนาจหน้าที่อันจะพึงมีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งใด ที่อ้างถึงกรุงเทพมหานครตามความในมาตรา 4 แล้ว ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับ…
(2) การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ’แม้ต่อมากฎหมายดังกล่าวจะถูกยกเลิกและมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แทนก็ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครไว้ในมาตรา89 ว่า ‘ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น ให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่องดังต่อไปนี้…
(6) การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ’ดังนี้เห็นว่า คลองลาดยาวเป็นทางระบายน้ำอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งโจทก์มีอำนาจหน้าที่บำรุงรักษา เมื่อจำเลยถมและปิดกั้นทางระบายน้ำดังกล่าวอันเป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…. แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าในการรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างและขุดดินส่วนที่มีการถม หากจำเลยไม่ปฏิบัติก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนและขุดดินออกเองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นนั้น เนื่องจากระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่10) พ.ศ. 2527 ออกใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 11 ให้เพิ่มเติมมาตรา 296 ทวิ เป็นว่า’ในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกพิพากษาให้ขับไล่หรือต้องออกไปหรือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครองถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จัดการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองทรัพย์ดังกล่าว’ ดังนั้นโจทก์จึงชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขุดดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกไปได้ จะให้โจทก์รื้อถอนเองโดยให้ศาลบังคับให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายหาได้ไม่’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนที่ให้โจทก์ขุดดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเองโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share