คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อความที่คู่ความแถลงท้ากันว่า ปัญหาว่าจำเลยที่ 1ขับรถยนต์โดยสารประมาทหรือไม่นั้น คู่ความขอถือเอาผลคำพิพากษาของอีกคดีหนึ่งเป็นข้อแพ้ชนะ คำว่า ผลคำพิพากษาของอีกคดีหนึ่งนั้นมิได้ระบุว่าผลคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงต้องหมายถึงผลคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาก็ตาม และเมื่อเป็นคำท้าคู่ความต้องผูกพันตามคำแถลงนั้น เมื่อคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดคดีที่คู่ความท้ากันนี้ต้องรอฟังผลคำพิพากษาถึงที่สุดของคดีนั้นเสียก่อน จึงจะพิจารณาประเด็นข้อพิพาทอื่นที่มิได้ท้ากันต่อไปได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารปรับอากาศหมายเลขทะเบียน 10-0287 กรุงเทพมหานคร และได้นำเข้าร่วมกิจการเดินรถในเส้นทางสัมปทานของบริษัทขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และเป็นผู้ขับขี่รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-2833 เพชรบุรี ของจำเลย ที่ 2จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันดังกล่าวจาก จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อ ครั้นถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้งมาก และเป็นเขตห้ามแซง จำเลยที่ 1 กลับเร่งความเร็วของรถให้สูงขึ้นและแซงรถจักรยานยนต์ซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าขึ้นไปทางด้านขวาล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปในทางเดินรถสำหรับรถที่แล่นส่วนทางมาโดยกะทันหัน และพุ่งเข้าชนรถยนต์โดยสารในทางเดินรถของโจทก์อย่างแรงรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทของนายบุญสันต์ ศรีแนบ คนขับรถยนต์ของโจทก์ซึ่งขับด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่า
1. จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทหรือไม่
2. ค่าเสียหายมีเพียงใด
3. จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในวงเงินเท่าใด และกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อน
ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 9มิถุนายน 2526 แถลงว่า เกี่ยวกับมูลละเมิดกรณีนี้เป็นเหตุให้มีการฟ้องเป็นคดีแพ่งที่ศาลชั้นต้นรวม 3 คดี ด้วยกัน คือคดีนี้ และคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 10299/2525 ระหว่างบริษัทธนกิจประกันภัย จำกัดโจทก์ นายบุญสันต์ ศรีแนบ จำเลยที่ 1 บริษัทหัวหิน-ปราณทัวร์ จำกัด(โจทก์คดีนี้) จำเลยที่ 2 บริษัทขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3 และคดีที่สามคือคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1598/2526 เฉพาะคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10299/2525 และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1598/2526 นั้น ได้มีการขอให้ศาลรวมการพิจารณาไว้แล้ว โจทก์จึงขอให้รวมการพิจารณาคดีนี้เข้ากับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10299/2525 ด้วย แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตเพราะคดีดังกล่าวมีการสืบพยานไปบ้างแล้วเป็นการไม่สะดวกต่อมาคู่่ความแถลงร่วมกันว่า สำหรับประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 นั้นคู่ความขอถือเอาผลคำพิพากษาของคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10299/2525เป็นข้อแพ้ชนะคดี จึงเหลือเฉพาะประเด็นข้อ 2 และข้อ 3 ซึ่งคู่ความต้องนำสืบกันในคดีนี้ ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10299/2525 ดังกล่าวแล้ว คือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 24777/2528
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า เหตุที่รถยนต์ชนกันครั้งนี้นอกจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่3 ก็ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายบุญสันต์ศรีแนบ ลูกจ้างคนขับรถยนต์โดยสารของโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1โจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัทขนส่งจำกัด เป็นจำเลยที่ 3ขอให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 3 เช่นกัน ปรากฎตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10299/2525 ของศาลชั้นต้น และตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 29 กันยายน 2526 คู่ความแถลงร่วมกันว่า สำหรับประเด็นข้อ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารประมาทหรือไม่นั้นคู่ความขอถือเอาผลคำพิพากษาของคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10299/2525เป็นข้อแพ้ชนะ ดังนี้ คู่ความจึงต้องผูกพันตามคำแถลงดังกล่าวกรณีถือได้ว่าเป็นคำท้าว่า หากนายบุญสันต์ ศรีแนบ คนขับรถยนต์โดยสารของโจทก์แพ้คดีจำเลยในคดีนั้น โจทก์ก็ต้องยอมแพ้คดีนี้ ปรากฎว่าต่อมาศาลชั้นต้นได้พิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วให้นายบุญสันต์แพ้คดีปัญหาในชั้นนี้มีว่า ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้โจทก์คดีนี้แพ้คดีโดยไม่รอฟังผลคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10299/2525 หมายเลขแดงที่ 24777/2528ดังกล่าวให้ถึงที่สุดเสียก่อนได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่คู่ความแถลงท้ากันว่า คู่ความขอถือเอาผลคำพิพากษาของคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10299/2525 เป็นข้อแพ้ชนะนั้น คำว่าผลคำพิพากษาของคดีดังกล่าว มิได้ระบุว่าผลคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ทั้งเป็นที่เห็นได้ว่าคู่ความย่อมมุงประสงค์ที่จะผูกพันกันตามคำพิพากษาที่มีผลบังคับกันได้โดยเด็ดขาดแล้ว ฉะนั้นผลคำพิพากษาของคดีดังกล่าวจึงหมายถึงผบคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาก็ตาม มิใช่ผลคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ศาลชั้นต้นก็ต้องรอฟังผล คำพิพากษาถึงที่สุดของคดีดังกล่าวเสียก่อน จึงจะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไปได้…”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เมื่อคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10299/2525 หมายเลขแดงที่24777/2528 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้ว.

Share