แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มีเจตนารมณ์ให้รัฐบาลจัดที่ดินของรัฐให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น การที่มีบทบัญญัติห้ามโอนที่ดินแก่ผู้อื่นเว้นแต่การตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ผู้รับที่ดินเป็นสมาชิกอยู่และกำหนดให้ที่ดินดังกล่าวไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ก็เพื่อให้ผู้ได้รับที่ดินใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ตามเจตนารมณ์ดังกล่าวโดยไม่ต้องเสียที่ดินไปโดยง่าย หรือมีการจำหน่ายจ่ายโอนไปให้ผิดจากเจตนารมณ์ดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ตกลงขายที่ดินให้จำเลยเพื่อหักหนี้และมอบที่ดินให้จำเลยซึ่งได้กระทำกันภายในระยะเวลาซึ่งยังอยู่ในกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นนิติกรรมที่มีเจตนาจะโอนที่ดินกันและก่อสิทธิเรียกร้องที่จะบังคับให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อไป แม้จะกำหนดให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันภายหลังพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ตาม ก็เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมอันมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 113 (เดิม) จำเลยจะยกนิติกรรมอันเป็นโมฆะดังกล่าวนี้ขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้กู้ยืมจากโจทก์และไม่ออกจากที่ดินของโจทก์ไม่ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้