คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2795/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เนื่องจาก พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2538 มาตรา 12 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า เงินประจำตำแหน่งไม่ถือเป็นเงินเดือน ดังนั้น เงินประจำตำแหน่งของข้าราชการจึงมิใช่เงินเดือนในความหมายของเงินเดือนของข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) โจทก์ย่อมบังคับคดีได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 148,223.50 บาท ตามสัญญากู้ยืมและสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ขอให้บังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดเงินประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8 ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งจากเงินงบประมาณ หมวดเงินเดือนและค่าจ้างประจำ เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2 อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง เนื่องจากเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการเป็นเงินเดือนหรือค่าตอบแทนส่วนหนึ่งของเงินเดือน จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 (2) ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่อายัดเงินประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เงินประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2 อยู่ในความหมายของเงินเดือนของข้าราชการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 (2) ซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี จึงให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2 อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า คำว่าเงินประจำตำแหน่งนั้น ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 3 หมายความว่า เงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งซึ่งกฎหมายที่ว่านี้ก็คือพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2538 โดยมาตรา 12 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เงินประจำตำแหน่งไม่ถือเป็นเงินเดือน ดังนั้น เมื่อเงินประจำตำแหน่งไม่มีสภาพเป็นเงินเดือน จึงไม่อยู่ในความหมายของเงินเดือนของข้าราชการตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 (2) อันจะไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โจทก์ย่อมบังคับเอาจากเงินประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอายัดเงินประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่อายัดเงินประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 เสียค่าธรรมเนียมศาลไม่ครบจึงเป็นคำขอที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า การร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่อายัดเงินประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2 เป็นคำขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการบังคับที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งต้องทำเป็นคำร้องและต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามตาราง 2 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (3) เป็นค่าคำร้องเป็นเงิน 20 บาท และข้อ (7) เป็นค่าคำสั่งอีกเป็นเงิน 50 บาท โดยต้องชำระเมื่อยื่นคำขอต่อศาล เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำขอโดยเสียค่าธรรมเนียมศาล 20 บาท และพนักงานศาลระบุว่าเป็น “ค่าคำร้อง” ตามที่พนักงานศาลเรียกให้เสีย แม้จำเลยที่ 2 มิได้เสียค่าคำสั่งเป็นเงิน 50 บาท อันเป็นการเสียค่าธรรมเนียมศาลไม่ครบ แต่ศาลชั้นต้นรับคำร้องของจำเลยที่ 2 และมีคำสั่งชี้ขาดแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จงใจหลีกเลี่ยงไม่ยอมเสียค่าธรรมเนียมศาลซึ่งขาดอยู่เพียง 50 บาท ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 เสียค่าธรรมเนียมศาลให้ครบตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share