คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9311/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกร่วมกันจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้แก่ น. พ. ว. และ ป. จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ในคดีดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26792 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกอีกด้วย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับ น. พ. ว. และ ป. แล้วพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินมรดกทั้งสองแปลงตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 น. พ. ว. และ ป. ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 26791 และเลขที่ 26792 แก่โจทก์ที่ 3 เพื่อให้โจทก์ที่ 3 นำไปจดทะเบียนแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายต่อไป หากไม่สามารถส่งมอบได้ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนแก่โจทก์ที่ 3 ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวต่อไป ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 243492 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60129 และ 60130 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 และ 32095 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 23312 และ 60131 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243491 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60127 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243490 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 60128 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินมรดกทั้งสิบเอ็ดแปลงดังกล่าว แล้วให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อจดทะเบียนแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก หากไม่สามารถส่งมอบได้ ให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวต่อไป ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีทั้งสองเรื่องโดยอ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกและขอให้แบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแก่โจทก์ทั้งสามก็ตาม แต่คดีก่อนนอกจากโจทก์ทั้งสามจะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกแล้ว โจทก์ทั้งสามยังฟ้องบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกรวมมาด้วย โดยมูลคดีเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกนำที่ดินทรัพย์มรดกแปลงหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครนายกโอนขายให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากบุคคลภายนอกที่โจทก์ทั้งสามเห็นว่าได้รับโอนที่ดินมรดกไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกที่จังหวัดนครนายกให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นที่ดินมรดกคนละส่วนกับที่ดินในคดีนี้ ทั้งคดีดังกล่าวมีประเด็นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่ามีเหตุจะเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกหรือไม่ เมื่อเพิกถอนแล้วจึงจะนำมาแบ่งปันกันระหว่างทายาทได้ ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกร่วมกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งแยกและโอนที่ดินทรัพย์มรดกแปลงอื่นซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครให้แก่ตนเองรวมทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกด้วยกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินทรัพย์มรดกที่กรุงเทพมหานครคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งทายาทอื่นที่ไม่มีอำนาจรับโอนที่ดินไว้โดยชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะเป็นที่ดินมรดกต่างแปลงและต่างท้องที่คนละส่วนกับที่ดินมรดกในคดีก่อนและคดีมีแต่เพียงประเด็นแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกันเท่านั้น มิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ตามเอกสารมีข้อความระบุว่า เจ้ามรดกมีความประสงค์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วน เนื้อที่ 26 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนที่เหลือมอบให้จำเลยที่ 2 จัดการเพื่อการกุศล แต่เจ้ามรดกขอเก็บผลประโยชน์ไปก่อนขณะยังมีชีวิต โดยในเอกสารไม่มีข้อความระบุว่าเป็นพินัยกรรมทั้งไม่มีข้อความระบุว่าเจ้ามรดกแสดงเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และมอบให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศลโดยให้มีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วอีกด้วย ทั้งเอกสารมีการจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2541 ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลา 9 เดือนเศษ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกมีอาการป่วยหนักถึงขนาดทราบว่าตนเองจะถึงแก่ความตายแล้ว แต่อย่างใด นอกจากนี้หากเจ้ามรดกมีเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองไว้โดยทำพินัยกรรมแล้ว เจ้ามรดกก็น่าจะระบุถึงที่ดินแปลงอื่นของตนไว้ในเอกสารดังกล่าวให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะยกที่ดินแปลงใดให้แก่ทายาทรายใดให้เสร็จสิ้นไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกในภายหลัง หาใช่ระบุไว้เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 เพียงแปลงเดียวโดยปล่อยให้ที่ดินแปลงอื่นเป็นมรดกตกทอดไปยังบรรดาทายาทโดยธรรมเมื่อตนถึงแก่ความตายดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารไม่ จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกเจตนายกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ทำหนังสือดังกล่าวเท่านั้น โดยยังคงหวงแหนที่ดินแปลงอื่นของตนอยู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้ และให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศล จึงไม่เข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 เมื่อการให้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 เข้าไปครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 โดยไม่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองเพื่อตนเอง ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ จำเลยทั้งสี่ยอมรับว่าโจทก์ทั้งสามรวมทั้งทายาทอื่นมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ทั้งต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกอีกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีหน้าที่ต้องจัดการรวบรวมทรัพย์มรดกและแบ่งปันให้แก่บรรดาทายาทโดยธรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งปันกันแทนทายาทโดยธรรมรวมทั้งโจทก์ทั้งสามผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ด้วย มิได้ครอบครองที่ดินมรดกตามฟ้องเพื่อตนเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จะไม่ยึดถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทโดยธรรมคนอื่นอีกต่อไป แต่ประสงค์จะครอบครองเพื่อตนเอง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 32090, 32095, 243490, 243491 และ 24392 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เลขที่ 23312, 60127, 60128, 60129, 60130 และ 60131 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร แล้วให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 32090, 32095, 243490, 243491 และ 243492 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เลขที่ 23312, 60127, 60128, 60129, 60130 และ 60131 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ที่ 3 เพื่อจดทะเบียนแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกที่มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมาย หากไม่สามารถส่งมอบได้ ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ที่ 3
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 32090, 32095, 243490, 243491 และ 243492 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 23312, 60127, 60128, 60129, 60130 และ 60131 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร แล้วให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 32090, 32095, 243490, 243491 และ 243492 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 23312, 60127, 60128, 60129, 60130 และ 60131 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ออกเป็นแปลงละ 8 ส่วนเท่า ๆ กัน ให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งที่ดินแต่ละแปลงคนละ 1 ใน 8 ส่วน เท่า ๆ กัน วิธีการแบ่งให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1364 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 32090, 32095, 243490, 243491 และ 243492 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และโฉนดที่ดินเลขที่ 23312, 60127, 60128, 60129, 60130 และ 60131 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายมาน เจ้ามรดก เพื่อจัดการมรดกตามสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้สืบสันดานของนายหมัด ได้รับส่วนแบ่ง 1 ส่วน ผู้สืบสันดานของนายซาฮัก ได้รับส่วนแบ่ง 1 ส่วน และผู้สืบสันดานของนายจำนงค์ ได้รับส่วนแบ่ง 1 ส่วน โดยโจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง 1 ใน 7 ของส่วนที่ตกทอดแก่ผู้สืบสันดานของนายหมัด โจทก์ที่ 2 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง 1 ใน 9 ของส่วนที่ตกทอดแก่ผู้สืบสันดานของนายซาฮัก และโจทก์ที่ 3 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง 1 ใน 9 ของส่วนที่ตกทอดแก่ผู้สืบสันดานของนายจำนงค์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2542 นายมาน เจ้ามรดกถึงแก่ความตายด้วยโรคชรา โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดและไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก เจ้ามรดกเป็นโสด บิดามารดาของเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดก นายหมัด นายวีระ นายซาฮัก นายจำนงค์ และจำเลยทั้งสี่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก นายหมัด นายซาฮักและนายจำนงค์ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดก โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายหมัดบิดารับรองแล้ว โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายซาฮักบิดารับรองแล้ว โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจำนงค์ โจทก์ทั้งสามจึงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่บิดาของตน เจ้ามรดกมีทรัพย์สินเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 และ32095 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 งาน 26 ตารางวา และ 1 งาน 87 ตารางวา ตามลำดับ โฉนดที่ดินเลขที่ 23312 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 1853 ตำบลโคกแฝด (หนองจอก) อำเภอหนองจอก (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 4 ไร่ 40 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 และ 26792 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา และ 1 ไร่ 1 งาน 9 ตารางวา ตามลำดับ หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยทั้งสี่ติดต่อขอรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 1853 และ 23312 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองจอก ที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 และ 32095 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า เจ้ามรดกมีจำเลยทั้งสี่เป็นทายาทโดยธรรมเท่านั้น วันที่ 8 สิงหาคม 2544 โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทายาทอื่นอีกหลายคนยื่นคำคัดค้านการขอรับมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองจอกและสาขาบางกะปิ เจ้าพนักงานที่ดินไต่สวนเปรียบเทียบแล้ว วันที่ 24 ตุลาคม 2544 และวันที่ 4 กันยายน 2544 จำเลยทั้งสี่ขอถอนคำขอรับมรดก วันที่ 11 ธันวาคม 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8220/2544 วันที่ 15 ตุลาคม 2546 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 ให้แก่จำเลยที่ 2 วันที่ 9 ตุลาคม 2546 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32095 ออกเป็นที่ดินแปลงย่อยอีก 3 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 243490 เนื้อที่ 31 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 243491 เนื้อที่ 31 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 243492 เนื้อที่ 62 ตารางวา สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 32095 คงเหลือเนื้อที่ 62 ตารางวา วันที่ 6 พฤษภาคม 2547 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 243490 ให้แก่จำเลยที่ 4 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243491 ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243492 ให้แก่จำเลยที่ 1 และแปลงคงโฉนดเลขที่ 32095 ให้แก่จำเลยที่ 2 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 23312 ออกเป็นที่ดินแปลงย่อยอีก 5 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 60127 เนื้อที่ 98 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 60128 เนื้อที่ 98 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 60129 เนื้อที่ 98 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 60130 เนื้อที่ 99 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 60131 เนื้อที่ 99 ตารางวา สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 23312 คงเหลือเนื้อที่ 99 ตารางวา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 60127 ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 60128 ให้แก่จำเลยที่ 4 ที่ดินโฉนดเลขที่ 60129 ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 60130 ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 60131 ให้แก่จำเลยที่ 2 และแปลงคงโฉนดเลขที่ 23312 ให้แก่จำเลยที่ 2 วันที่ 18 ตุลาคม 2549 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแล้วมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแทน วันที่ 12 กรกฎาคม 2549 โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดนครนายก เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 771/2549 ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก และให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกตามส่วนที่พึงจะได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 26791 และ 26792 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้แก่โจทก์ที่ 3 เพื่อให้โจทก์ที่ 3 นำไปจดทะเบียนแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายต่อไป หากไม่สามารถส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 3 ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อจดทะเบียนแบ่งทรัพย์มรดกต่อไป วันที่ 30 ตุลาคม 2550 ศาลจังหวัดนครนายกพิพากษาว่า ให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 26792 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก คนละ 1 ใน 8 ส่วน แต่มิให้เกินคนละ 63.625 ตารางวา ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 26792 แก่โจทก์ที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1155/2550
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 771/2549 ของศาลจังหวัดนครนายกหรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกร่วมกันจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้แก่นางสาวนงลักษณ์ นายพรณรงค์ นายวสันต์และนายประกาศิต จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ในคดีดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26792 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกอีกด้วย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนางสาวนงลักษณ์ นายพรณรงค์ นายวสันต์และนายประกาศิต แล้วพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินทั้งสองแปลงตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 นางสาวนงลักษณ์ นายพรณรงค์ นายวสันต์ และนายประกาศิตร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 26791 และเลขที่ 26792 แก่โจทก์ที่ 3 เพื่อให้โจทก์ที่ 3 นำไปจดทะเบียนแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายต่อไป หากไม่สามารถส่งมอบได้ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนแก่โจทก์ที่ 3 ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวต่อไป ส่วนคดีนี้ โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 243492 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60129 และ 60130 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 และ 32095 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 23312 และ 60131 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243491 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60127 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243490 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 60128 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินมรดกทั้งสิบเอ็ดแปลง แล้วให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อจดทะเบียนแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก หากไม่สามารถส่งมอบได้ ให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินต่อไป ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีทั้งสองเรื่องโดยอ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกและขอให้แบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามก็ตาม แต่คดีก่อนนอกจากโจทก์ทั้งสามจะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกแล้ว โจทก์ทั้งสามยังฟ้องบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกรวมมาด้วย โดยมูลคดีเกิดจาก การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกนำที่ดินทรัพย์มรดกแปลงหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครนายกโอนขายให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากบุคคลภายนอกที่โจทก์ทั้งสามเห็นว่าได้รับโอนที่ดินมรดกไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกที่จังหวัดนครนายกให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นที่ดินมรดกคนละส่วนกับที่ดินในคดีนี้ ทั้งคดีดังกล่าวมีประเด็นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่า มีเหตุจะเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกหรือไม่ เมื่อเพิกถอนแล้วจึงจะนำมาแบ่งปันกันระหว่างทายาทได้ ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกร่วมกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งแยกและโอนที่ดินทรัพย์มรดกแปลงอื่นซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครให้แก่ตนเอง รวมทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกด้วยกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินทรัพย์มรดกที่กรุงเทพมหานครคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งทายาทอื่นที่ไม่มีอำนาจรับโอนที่ดินไว้โดยชอบด้วยกฎหมายได้เพราะเป็นที่ดินมรดกต่างแปลงและต่างท้องที่คนละส่วนกับที่ดินมรดกในคดีก่อน และคดีมีแต่เพียงประเด็นแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกันเท่านั้น มิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 771/2549 ของศาลจังหวัดนครนายกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการที่สองว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 หรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารมีข้อความระบุว่า เจ้ามรดกมีความประสงค์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วน เนื้อที่ 26 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนที่เหลือมอบให้จำเลยที่ 2 จัดการเพื่อการกุศล แต่เจ้ามรดกขอเก็บผลประโยชน์ไปก่อนขณะยังมีชีวิต โดยในเอกสารไม่มีข้อความระบุว่า เป็นพินัยกรรม ทั้งไม่มีข้อความระบุว่าเจ้ามรดกแสดงเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และมอบให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศลโดยให้มีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วอีกด้วย ทั้งเอกสารมีการจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2541 ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลา 9 เดือนเศษ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกมีอาการป่วยหนักถึงขนาดทราบว่าตนเองจะถึงแก่ความตายแล้วแต่อย่างใด นอกจากนี้หากเจ้ามรดกมีเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองไว้โดยทำพินัยกรรมแล้ว เจ้ามรดกก็น่าจะระบุถึงที่ดินแปลงอื่นของตนไว้ในเอกสารให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะยกที่ดินแปลงใดให้แก่ทายาทรายใดให้เสร็จสิ้นไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกในภายหลัง หาใช่ระบุไว้เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 เพียงแปลงเดียวโดยปล่อยให้ที่ดินแปลงอื่นเป็นมรดกตกทอดไปยังบรรดาทายาทโดยธรรมเมื่อตนถึงแก่ความตายดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารไม่ จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกเจตนายกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ทำหนังสือเท่านั้น โดยยังคงหวงแหนที่ดินแปลงอื่นของตนอยู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้ และให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศล จึงไม่เข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 และ 1647 เมื่อการให้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 เข้าไปครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 โดยไม่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองเพื่อตนเอง ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งหมดย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมรวมทั้งโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาของตน การที่ทายาทคนใดคนหนึ่งเข้าครอบครองที่ดินมรดกดังกล่าวรวมทั้งจำเลยที่ 2 ซึ่งอ้างว่าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันระหว่างทายาทให้เสร็จสิ้นไป ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจึงยังคงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกัน ที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่าเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2544 เมื่อโจทก์ทั้งสามทราบว่าจำเลยทั้งสี่ไปขอรับมรดกของเจ้ามรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยโฉนดที่ดินทรัพย์มรดกทุกฉบับอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสี่ ถือว่าโจทก์ทั้งสามถูกจำเลยทั้งสี่โต้แย้งสิทธิในการรับมรดกและเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสี่แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นรวมถึงโจทก์ทั้งสามว่า จำเลยทั้งสี่ครอบครองทรัพย์มรดกเพื่อตนแล้วนั้น ก็ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทายาทอื่นอีกหลายคนทราบเรื่องขอรับมรดกของจำเลยทั้งสี่ได้ยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองจอกและสาขาบางกะปิ ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินไต่สวนเปรียบเทียบแล้ว แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2544 และวันที่ 4 กันยายน 2544 จำเลยทั้งสี่จึงยื่นคำขอยกเลิกคำขอโอนที่ดินมรดกตามที่ยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองจอกว่า ผู้รับมรดกที่ดินยังมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว และทายาทของบุคคลเหล่านั้นไม่ได้ยื่นคำขอรับมรดกด้วย จึงขอยกเลิกคำขอแล้วจะติดตามทายาทส่วนที่เหลือให้มารับมรดกร่วมกันในภายหลังเพื่อจะได้ตกลงแบ่งมรดกกันให้ถูกต้องต่อไป ซึ่งกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสี่ยอมรับว่าโจทก์ทั้งสามรวมทั้งทายาทอื่นมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเช่นกัน ทั้งต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีหน้าที่ต้องจัดการรวบรวมทรัพย์มรดกและแบ่งปันให้แก่บรรดาทายาทโดยธรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดี และในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งปันกันแทนทายาทโดยธรรมรวมทั้งโจทก์ทั้งสามผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ด้วย มิได้ครอบครองที่ดินมรดกตามฟ้องเพื่อตนเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จะไม่ยึดถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทโดยธรรมคนอื่นอีกต่อไปแต่ประสงค์จะครอบครองเพื่อตนเอง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share