คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้
เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วว่าให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์จำเลย ให้โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าว ให้รถยนต์ 2 คัน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์รวม 3,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้อีก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และลงลายมือชื่อโดยมีพยาน 2 คน และนายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความ “ทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง” ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า ไม่มีการตกลงว่าจะไม่ขอแบ่งอีก โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนคำเบิกความ จำเลยมีพยานบุคคลซึ่งเป็นคนกลางยืนยันถึงการเจรจาตามบันทึกข้อตกลง ทั้งจำเลยได้ดำเนินการตามข้อตกลงแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่หย่ากันแล้วจะไม่เจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เสร็จสิ้น จึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันชัดเจน โดยโจทก์ตกลงเอาทรัพย์สินตามที่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นตามฟ้องนอกจากที่ตกลง หากมีชื่อของโจทก์หรือจำเลยก็ให้ตกเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนหนี้สินให้จำเลยรับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วย ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามมาตรา 850 ผลของสัญญาย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์และจำเลยได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินตามฟ้องอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 3499 เลขที่ดิน 2823 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 45.1 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4631 เลขที่ดิน 27 ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 34 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุดเลขที่ 1595/150 ชั้น 32 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดเลอรัก คอนโดมิเนียม อาคารบี (สกายวอล์ค) ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 1/2555 เนื้อที่ 51.77 ตารางเมตร บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1412 ถึง 1415 แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา จังหวัดกรุงเทพมหานคร รถยนต์หมายเลขทะเบียน ธบ 3663 กรุงเทพมหานคร และหมายเลขทะเบียน ฮก 5758 กรุงเทพมหานคร เงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสวนจตุจักร บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 257 – xxxxxx – x จำนวนเงิน 724,704.24 บาท เงินกองทุนรวมกสิกรไทยของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด ชื่อกองทุนเปิดเค ตลาดเงิน เลขที่บัญชี 061 – 5 – xxxxx – x จำนวนเงิน 5,422.64 บาท เงินกองทุนรวมกสิกรไทยของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด ชื่อกองทุนเปิดเค ตลาดเงิน เลขที่บัญชี 061 – 5 – xxxxx – x จำนวนเงิน 24,883,426.11 บาท เงินกองทุนรวมกสิกรไทยของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด ชื่อกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ 6 เดือน เอเอ็น เลขที่บัญชี 061 – 5 – xxxxx – x จำนวนเงิน 21,328,230 บาท เงินกองทุนรวมกสิกรไทยของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด ชื่อกองทุนเปิดเค ตราสารรัฐระยะสั้น เลขที่บัญชี 769 – 5 – xxxxx – x จำนวนเงิน 5,433.33 บาท เงินกองทุนรวมทิสโก้ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด ชื่อกองทุน/ Fund Name “TISCO SHORT TERM GOVERNMENT BOND FUND” ประเภทกองทุน/Fund Category “MONEY MARKET FUND” จำนวนเงิน 12,070,497.98 บาท เงินกองทุนรวมไทยพาณิชย์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด ชื่อกองทุน SCBSFF จำนวนเงิน 1,750,093.03 บาท ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งหุ้นที่จำเลยมีชื่อถือหุ้นในบริษัทแอ็ดว้านซ์ แทรคกิ้ง เซอร์วิสซ์ จำกัด จำนวน 90,000 หุ้น ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้จำเลยขายหุ้นนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 4,500,000 บาท ให้จำเลยแบ่งเงินปันผลที่จำเลยได้รับจากการแบ่งกำไรของบริษัทแอ็ดว้านซ์ แทรคกิ้ง เซอร์วิสซ์ จำกัด จำนวนเงิน 13,029,238.73 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่งทั้งสิ้น 47,570,808.04 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 47,570,808.04 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4631 เลขที่ดิน 27 ที่ดินระวาง 54384 – 71 ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 34 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ตึกแถวสองชั้น เลขที่ 528/5 หมู่ที่ 5 ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสวนจตุจักร บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 257 – xxxxxx – x ซึ่งมีอยู่ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2555 จำนวนเงิน 724,704.24 บาท เงินที่จำเลยขายกองทุนเปิดเค ตลาดเงิน ตราสารระยะสั้น เลขที่บัญชี 769 – 5 – xxxxx – x เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 จำนวนเงิน 5,433.33 บาท เงินที่จำเลยขายกองทุนเปิดเค ตลาดเงิน เลขที่บัญชี 061 – 5 – xxxxx – x เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 จำนวนเงิน 5,422.64 บาท และหุ้นของบริษัทแอ็ดว้านซ์ แทรคกิ้ง เซอร์วิสซ์ จำกัด ที่จำเลยถือไว้ จำนวน 90,000 หุ้น ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์เคยจดทะเบียนสมรสกับนางสาววิรุณย์ เมื่อปี 2523 มีบุตรด้วยกัน 3 คน ต่อมาจดทะเบียนหย่าและอยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยไม่จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 1 คน โจทก์เคยถูกศาลพิพากษาจำคุกฐานปลอมแปลงเอกสารและฉ้อโกงก่อนที่จะได้จำเลยเป็นภริยา โจทก์อายุมากกว่าจำเลย 21 ปี รู้จักกันเนื่องจากจำเลยไปพบนายสวัสดิ์ เพื่อให้ช่วยฝากงาน นายสวัสดิ์จึงให้โจทก์ซึ่งเป็นคนขับรถของนายสวัสดิ์พาจำเลยไปสมัครงาน โจทก์และจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากันประมาณปี 2535 หรือ 2536 แต่จดทะเบียนสมรสกันภายหลังเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2537 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือนางสาวนันท์นภัสร์ นางสาวพิมพ์ภัทราและนางสาวพัฒน์นรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2536 ก่อนจดทะเบียนสมรสโจทก์ดำเนินการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยชวาลพัฒนา จำเลยช่วยโจทก์ดูแลและบริหารจัดการการเงินรายรับรายจ่ายโดยนางประนอม มารดาของจำเลยได้นำที่ดินจำนองเป็นประกันหนี้ของห้างฯ ที่มีต่อธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ด้วย ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 บันทึกขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1 และที่ 2 กับสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดินที่จำนอง ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและเลิกห้างฯ โดยนางประนอมเป็นผู้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง นอกจากนี้โจทก์และจำเลยร่วมกันจดทะเบียนตั้งบริษัทนภาชัยการท่องเที่ยว – เดินทาง จำกัด บริษัทพี.เอ็น.อี.เฟรนด์ลี่ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด บริษัทซี.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2544 โจทก์ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทเอจิลิตี้คอมมูนิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด วันที่ 30 กันยายน 2545 จำเลยจดทะเบียนตั้งบริษัทแอ็ดว้านซ์แทรคกิ้ง เซอร์วิสซ์ จำกัด ปัจจุบันจำเลยถือหุ้น 90,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท โดยโจทก์ไม่มีหุ้นในบริษัทแอ็ดว้านซ์แทรคกิ้ง เซอร์วิสซ์ จำกัด เลย ประมาณปี 2555 โจทก์และจำเลยมีปัญหาโต้เถียงและทะเลาะกันเป็นประจำจนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 จำเลยได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ทำร้ายร่างกาย วันที่ 12 ธันวาคม 2555 โจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน และมีการตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเกี่ยวกับทรัพย์สินและอำนาจปกครองบุตรทั้งสามที่เป็นผู้เยาว์ด้วย จำเลยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่าเสร็จสิ้นแล้ว ทรัพย์สินตามที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งยกเว้นอาคารชุดเลขที่ 1595/150 และหน่วยลงทุนเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยทรัพย์สินมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ขณะจดทะเบียนหย่า โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสมรสกันทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินตามฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกันซึ่งหากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้วถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตรา 1532 อันเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีข้อตกลงในขณะจดทะเบียนหย่า ก็สามารถฟ้องเรียกร้องเอาในภายหลังได้โดยในส่วนสินสมรสนั้นเมื่อไม่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นก็ให้ได้รับส่วนแบ่งเท่ากันตามมาตรา 1533 แต่บทบัญญัติมาตรา 1533 ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็อาจตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้เช่นกัน ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าข้อ 4 ระบุให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม ข้อ 5 ระบุเรื่องทรัพย์สินและหนี้สิน ดังนี้ ข้อ 5.1 บ้านเลขที่ 31/41 หมู่บ้านฟ้าทอฝัน ถนนเลียบคลอง 7 (พันธุ์แฉล้มอุทิศ) ตำบลบึงคำพร้อย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พร้อมที่ดินประมาณ 88 ตารางวา ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายหญิง โดยฝ่ายหญิงยินยอมจ่ายเงินจำนวน 1,500,000 บาท ให้แก่ฝ่ายชายภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2555 ข้อ 5.2 ฝ่ายหญิงยินยอมจ่ายเงินจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่ฝ่ายชายภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2555 ข้อ 5.3 รถยนต์จำนวน 2 คัน หมายเลขทะเบียน ภข 7444 กรุงเทพมหานคร และหมายเลขทะเบียน ภล 8839 กรุงเทพมหานคร ฝ่ายหญิงยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายชาย ข้อ 5.4 ฝ่ายชายยินยอมออกจากบ้านเลขที่ 55/1 ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2555 โจทก์และจำเลยลงลายมือชื่อโดยมีพยาน 2 คน และนายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความว่า ทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้ (ทรัพย์สินตามฟ้อง) โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องก็ตาม แต่โจทก์คงมีตัวโจทก์เพียงปากเดียวเบิกความลอย ๆ ว่า ไม่มีการตกลงว่าโจทก์จะไม่ขอแบ่งทรัพย์สินตามฟ้องโดยไม่มีพยานอื่นมาสนับสนุน คำเบิกความของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จำเลยมีตัวจำเลย นางสาวนันท์นภัสร์ และดาบตำรวจไพบูลย์ เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันและสอดคล้องต้องกันว่า ก่อนไปจดทะเบียนหย่าและตกลงทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า ได้มีการเจรจากันที่สำนักงานที่ตั้งของบริษัทแอ็ดว้านซ์ แทรคกิ้ง เซอร์วิสซ์ จำกัด เรื่องหย่าและมีการเจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สิน ครั้งแรกโจทก์จะเอาเงิน 25,000,000 บาท แต่จำเลยไม่มีเงินจ่าย ได้เจรจาต่อรองจนได้ข้อยุติตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า จึงพากันไปที่สำนักงานเขตจตุจักร ยกเว้นดาบตำรวจไพบูลย์แยกไปรับเสด็จก่อนแล้วตามไปที่สำนักงานเขตจตุจักรภายหลังและลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงด้วย เห็นว่า นางสาวนันท์นภัสร์เป็นบุตรสาวของโจทก์และจำเลยพักอาศัยอยู่ที่ตั้งสำนักงานบริษัทดังกล่าวแห่งเดียวกับโจทก์และจำเลยซึ่งมีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกันเป็นประจำ นับว่าเป็นพยานคนกลาง คำเบิกความของนางสาวนันท์นภัสร์มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนดาบตำรวจไพบูลย์ก็ได้ความว่า มาที่สำนักงานบริษัทข้างต้นเนื่องจากมีพนักงานของบริษัทนั้นแจ้งไปให้ระงับเหตุ ดังนั้นการมาที่สำนักงานจึงมีเหตุที่จะมาและเป็นเหตุให้เห็นการเจรจา ดาบตำรวจไพบูลย์ไม่มีส่วนได้เสียนับว่าเป็นพยานคนกลางเช่นกัน คำเบิกความของดาบตำรวจไพบูลย์มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ว่า รถยนต์ตามบันทึกข้อตกลงคันหนึ่งเป็นของบริษัทฯ ส่วนอีกคันหนึ่งเป็นสินสมรส แต่จำเลยกลับดำเนินการโอนให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง และจำเลยยังชำระเงินให้แก่โจทก์อีกรวม 3,500,000 บาท โดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว กับต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์อีก 3 คน โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้สินเลย จึงไม่มีเหตุผลใดที่หย่ากันแล้วจะไม่เจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เสร็จสิ้น พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสกันชัดเจน โดยโจทก์ตกลงเอาทรัพย์สินตามที่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นตามฟ้องนอกจากที่ตกลงหากมีชื่อของโจทก์หรือจำเลย ก็ให้ตกเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนหนี้สินให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1532 และเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามมาตรา 850 เมื่อโจทก์จำเลยลงลายมือชื่อไว้ย่อมฟ้องร้องให้บังคับกันได้ ตามมาตรา 851 (การฟ้องร้องตามกฎหมายหมายถึงการต่อสู้คดีด้วย) ผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นย่อมทำให้การเรียกร้อง ซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์และจำเลยได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้น (คือบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า) เป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเอาทรัพย์สินตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เมื่อวินิจฉัยดั่งนี้แล้ว ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของโจทก์ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share